รีเซต

ค่า ft คืออะไร ? สาเหตุค่าไฟประเทศไทยแพงขึ้น

ค่า ft คืออะไร ? สาเหตุค่าไฟประเทศไทยแพงขึ้น
TNN ช่อง16
29 พฤษภาคม 2566 ( 01:07 )
85
ค่า ft คืออะไร ? สาเหตุค่าไฟประเทศไทยแพงขึ้น


ปัจจุบันหลายครัวเรือนอาจกำลังประสบปัญหาบิลค่าไฟที่แพงขึ้น แม้ว่าจะใช้ไฟเท่าเดิม แล้วตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาในบิลค่าไฟของเรามาจากไหน ? ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าการคำนวณบิลค่าไฟมาจากค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการรายเดือน + ค่าเอฟที (ft) + ภาษี (VAT) 7 เปอร์เซ็นต์


โดยสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นในช่วงเวลานี้ก็คือค่าเอฟที (ft หรือ Fuel Adjustment Charge) ที่แพงขึ้น ซึ่งค่าเอฟทีหมายถึงการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่การคำนวณค่าเอฟทีมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยค่าเอฟทีมีการปรับตัวอยู่แล้วทุก ๆ 4 เดือน


ทำไมการปรับตัวของค่าเอฟที (ft) ถูกพูดถึงในวงกว้าง ? 

ปกติแล้วการปรับตัวของค่าเอฟทีมักจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเดิมมากนักแต่ในเดือนกันยายน 2022 - เมษายน 2023 ค่าเอฟทีปรับตัวขึ้นสูงถึง 93.43 สตางค์ต่อหน่วย จากก่อนหน้านั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2022 ที่ค่าเอฟทีอยู่ที่ 24.77 ซึ่งขยับขึ้นถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 377 เปอร์เซ็นต์


ต่อมาในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2023 นี้ ค่าเอฟทีได้ปรับตัวลงมาแล้วเล็กน้อยเหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย


ในเดือนมีนาคม 2023 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชี้แจงว่าสาเหตุหลักมาจากปริมาณเชื้อเพลิงในประเทศลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนและได้มาในราคาแพง เนื่องจากผลกระทบหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 (Covid 19) และความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน


มาตรการช่วยเหลือประชาชน 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนดังนี้


  • ในกรณีที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ลดค่าเอฟทีเหลือ 01.39 สตางค์/หน่วย

  • ในกรณีใช้ไฟฟ้า 301 – 350 หน่วย/เดือน ลดค่าเอฟทีเหลือ 41.93 สตางค์/หน่วย

  • ในกรณีใช้ไฟฟ้า 351 – 400 หน่วย/เดือน ลดค่าเอฟทีเหลือ 62.53 สตางค์/หน่วย

  • ในกรณีใช้ไฟฟ้า 401 – 500 หน่วย/เดือน ลดค่าเอฟทีเหลือ 83.13 สตางค์/หน่วย

ข้อมูลและภาพจาก การไฟฟ้านครหลวง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง