รีเซต

"หายป่วยโควิด-19" แต่ปอดอาจเสี่ยงถูกทำลาย รวมขั้นตอนดูแลตัวเองหลังหายป่วยโควิด

"หายป่วยโควิด-19" แต่ปอดอาจเสี่ยงถูกทำลาย รวมขั้นตอนดูแลตัวเองหลังหายป่วยโควิด
Ingonn
18 สิงหาคม 2564 ( 13:11 )
673
"หายป่วยโควิด-19" แต่ปอดอาจเสี่ยงถูกทำลาย รวมขั้นตอนดูแลตัวเองหลังหายป่วยโควิด

 

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นสูงเป็นหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิดที่ต้องได้รับการรักษาเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีอีกประเด็นที่เราไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ “ยอดผู้ที่หายป่วยโควิด” กลุ่มคนเหล่านี้ที่หายป่วยแล้ว บางรายยังคงต้องรับการฟื้นฟูปอด ฟื้นฟูร่างกาย เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ส่งผลต่อปอดโดยตรง มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นระบบสำคัญในการใช้ชีวิต

 

 

 

แม้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะหายป่วยแล้ว แต่ก็ยังตรวจเจอเชื้อได้อีก เพราะว่ายังคงเหลือซากพันธุกรรมของเชื้อ ที่ไม่ได้แพร่เชื้อแล้วก็จริง แต่ว่ามีผลต่อระบบหายใจเป็นหลัก หากเชื้อลงปอดแล้ว ปอดจะมีปัญหาผิดปกติ เกิดการอักเสบและเป็นพังผืด เนื้อปอดบางส่วนอาจถูกทำลายไปอย่างถาวร ไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ อาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่มักพบ เช่น ไข้สูง เหนื่อยง่าย หอบ ไอมีเสมหะ 

 

 

 

ยังไม่พอ! อาจพบปัญหาในระบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปอด ได้แก่ หัวใจ ไต เป็นต้น ช่วงที่ติดเชื้อควรสังเกตอาการต่อเนื่องว่ามีผลกระทบอะไรที่ตามมาบ้าง ซึ่งโดยรวมแล้วอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวลดลง ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมตามมาได้

 

 


เห็นแบบนี้แล้ว เริ่มรู้สึกว่าโควิด-19 คงไม่ใช่โรคที่หายแล้วจะกลับมาเป็นปกติได้เลย แต่ TrueID อยากแนะนำว่า อย่าคิดแบบนั้นเพราะยังมีแนวทางในการฟื้นฟูปอด บำรุงปอดและร่างกายอีกหลายวิธี ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมมาให้แล้ว พร้อมวิดีโอสาธิตด้วย

 

 

 

สภาพปอดหลังหายป่วยโควิด-19 จะเป็นอย่างไร


การฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค จะพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ แต่มีปริมาณเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ติดเชื้อ และช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังรู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า

 

 


การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่หายป่วยโควิด-19 

 

ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น หรือรักษาหายแล้ว สามารถออกกำลังกายได้ ตามข้อบ่งชี้ดังนี้ 


1.ไม่มีอาการเหนื่อย หรือเคยเหนื่อย แต่อาการหายไปเกิน 3 วันแล้ว

 


2.ไม่ได้อยู่ในช่วง 7 วันแรก ของการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 

 


3. ไม่มีไข้ในขณะที่ออกกำลังกาย อุณหภูมิต่ำกว่า 38 องศาเซลเซียส 

 


4. หากวัดออกซิเจนบริเวณปลายนิ้วมือ ต้องเกิน 95% ขึ้นไป 

 


5. ค่าความดันโลหิตต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยตัวบนอยู่ในช่วง 90-140 มม.ปรอท ตัวล่างอยู่ในช่วง 60-90 มม.ปรอท หากสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ควรออกกำลังกาย

 

 

สำหรับคนที่เคยออกกำลังกายหนัก ๆ มาก่อนติดเชื้อ หลังจากอาการดีขึ้น หรือหายแล้ว ต้องเริ่มออกกำลังกายทีละนิด เช่น ปกติเคยวิ่งด้วยความเร็วสูง ระยะเวลาเป็นชั่วโมง อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นเดินเร็วก่อน ประมาณ 15-20 นาที ต่อครั้ง โดยสังเกตอาการขณะออกกำลังกายด้วย หากมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อย หายใจเร็ว แน่นหน้าอก ปวดหัวเวียนหัว ใจสั่น ตามัว เหงื่อออกมาก มีอาการซีดเขียว หรือหากออกกำลังกายแล้วรับรู้ได้ว่าเหนื่อยมากผิดปกติ ควรหยุดออกกำลังกายทันที 

 

 

สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะบางคนออกกำลังกายแล้วอาจเกิดความเสี่ยงได้

 

 

 

เตรียมตัวฟื้นฟูปอด


ผู้ป่วยโควิด-19 จำเป็นต้องฟื้นฟูปอดเนื่องจากเนื้อปอดถูกทำลายทำให้การหายใจไม่ดีเหมือนปกติ วิธีฟื้นฟูปอดโดยการหายใจให้ถูกต้องจะทำให้การหายใจดีขึ้น สำหรับคนที่มีเสมหะก็มีการสอนวิธีขับเสมหะที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถขับเสมหะได้ดีขึ้น บางทีการไอไม่แรงพอก็ไม่สามารถขับเสมหะได้อีกด้วย 

 

 

ทางฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำ คลิปวีดีโอฟื้นฟูปอดมี 3 ตอน โดยเรียงลำดับจากการหายใจง่ายๆ จนถึงการออกกำลังกายทั้งตัวเพื่อกระตุ้นให้ปอดทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีการแบ่งระดับจากผู้ป่วยหลังการพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ และประชาชนทั่วไปที่กักตัวอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการฝึกระบายเสมหะที่ถูกต้อง ช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้การหายใจดีขึ้น

 

 

 

คลิปการฟื้นฟูปอด 3 ตอน

 

ตอนที่ 1 ให้ลองฝึกหายใจเพื่อช่วยขยายปอด สู้โควิด19

https://youtu.be/9qWEiO38fDA

 

 

 

ตอนที่ 2 ให้ลองออกท่าบริหารเพื่อฟื้นฟูร่างกาย สู้โควิด19

https://youtu.be/t3BH1HH2_Yo

 

 

 

ตอนที่ 3 ให้ลองกระตุ้นภูมิสู้โควิด19 ด้วยการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise

https://youtu.be/D8B8SGm5-Xo

 

 

 

 

วิธีออกกำลังกายขยับปอด ลดพังพืด

 

นอกจากคลิปวิดีโอที่กล่าวมาข้างต้น ทางนพ. พิเชษฐ์ เจริญศิริวัฒน์ สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ได้ระบุว่า ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย เนื้อปอดจะมีพังผืดและแผลเป็นเกิดขึ้น ในช่วงแรก ต้องระบบการหายใจและสมรรถภาพของปอดนั้นจะยังไม่เป็นปกติสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้โดยให้มีการเคลื่อนไหวหรือขยับช่วงปอด เพื่อให้เนื้อปอดและถุงลมต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนี้

 

 

1.การฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) 


การฝึกการหายใจนั้นจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัว ทำได้โดยการออกแรงในการหายใจเข้าทางจมูกจนสุด แล้วควบคุมลมที่หายใจออกมาทางปากช้าๆ หรือพูดคำว่า “อู” ยาวๆ ช้าๆ จนกระทั่งลมหมดปอด แล้วหายใจเข้าใหม่ให้เต็มปอดแล้วออกช้าๆ เช่นเดิม เนื่องจากพังผืดจะทำให้เนื้อปอดมีความแข็ง พังผืดที่แข็งเมื่อได้ขยับบ่อยๆ ก็จะมีการยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นของเนื้อปอดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา

 


2.การบริหารปอด 


จำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัวเช่นกัน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างหนึ่งที่ได้ผลดี ทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เรียกว่า “Triflow” โดยให้คนไข้ดูดลูกปิงปองที่มีทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ซึ่งจะลอยขึ้นกี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับปริมาณลมที่สูดเข้าไป ยิ่งสูดลมเข้าไปมาก ลูกปิงปองก็จะลอยขึ้นเยอะ การดูดลมเข้าปอดโดยใช้เครื่อง “Triflow”  นั้นจึงถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดรูปแบบนึงที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อยๆ ฟื้นตัวได้

 

 

3.การออกกำลังกายเบาๆ 


สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นต้นไป ในช่วงนี้ร่างกายอาจจะยังมีการอ่อนเพลีย แต่ปอดอาจจะเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การลุกเดินบ่อยๆ ไม่อยู่เฉย พอร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยขยับความหนักขึ้นไป อาจจะเดินให้ไวขึ้น หรือวิ่ง jogging เบาๆ ได้เช่นกัน

 

 

 

เพียงเท่านี้คนที่หายป่วยแล้วก็สามารถฟื้นฟูปอดได้เองที่บ้าน และเชื่อว่าหากฟื้นฟูปอดตามวิธีกาข้างต้น ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ อาจช่วยให้ปอดกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

 

 

 


ข้อมูลจาก นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล , ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ,โรงพยาบาลสมิติเวช

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง