รีเซต

“ลดเหลื่อมล้ำ! ช่วย SMEs!!เราต้องรอด

“ลดเหลื่อมล้ำ! ช่วย SMEs!!เราต้องรอด
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2563 ( 15:18 )
257

ที่สำคัญคือการเลื่อนชำระหนี้ที่สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนี้การบริหารสภาพคล่องของธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำเพื่อประคองธุรกิจให้ไปต่อโดยไม่สะดุดล้มลงซ้ำเดิม


มาดูอีกตัวเลขหนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 56.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 59.3 แนวโน้มความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ลดลงจากความกังวลเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และความเปราะบางของการจ้างงานในอนาคตที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชน 

นอกจากนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 3. มาตรการในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล 4. การแข่งขันในตลาด 5. ราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน (ที่เพิ่มสูงขึ้น)


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เสนอแนวทางการประเมินสภาพคล่องของผู้ประกอบการSMEs ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการSMEs สามารถนำไปบริหารจัดการสภาพคล่องให้สอดคล้องภาวะธุรกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs พิจารณาทางเลือกมาตรการรัฐ มาช่วยเสริมในการพยุงให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ 2 แนวทาง ดังนี้


แนวทางที่ 1 การวิเคราะห์คาดการณ์รายจ่ายและรายได้ของธุรกิจ หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายของเรา รายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็เปรียบเสมือนแผลที่เลือดไหลไม่หยุด หากเราไม่ได้สมานแผลเหล่านี้ความเจ็บปวดก็จะคงดำเนินต่อไป การวิเคราะห์ประมาณการรายจ่ายให้สมดุลกับรายได้และทรัพย์สินจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อสภาพคล่องและผลประกอบการของธุรกิจ โดยทั่วไปรายจ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินเดือน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นทุนการผลิตสินค้า ฯลฯ จะเป็นรายการที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบันทึกเป็นรายการประจำเดือนเพื่อการวิเคราะห์โครงสร้างค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วพบว่ารายได้ที่เกิดขึ้นต่ำกว่ารายจ่าย ผู้ประกอบการ SMEs อาจต้องเลือกตัดกิจกรรมที่สร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือเลือกหยุดหน่วยธุรกิจที่ ณ ขณะนี้ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระยะอันใกล้

แนวทางที่ 2 การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ว่าประสบปัญหาขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องในรูปแบบใด การขาดทุน และการขาดสภาพคล่อง เป็น 2 สิ่งที่เกี่ยวข้องกัน แต่มีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกัน TMB Analytics ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมุติ 3 กรณี เพื่อการวิเคราะห์การขาดสภาพคล่องดังนี้


การจับมือของ 100 บริษัทขนาดใหญ่ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นหัวเรือใหญ่ 

ในการอัดฉีดสภาพคล่องเอสเอ็มอี ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีก่อนหน้านี้  ซึ่งเจาะจงไปที่การชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวให้เริ่มย้อนหลัง จากวันที่  1 ต.ค.ที่ผ่านมา คีเวิร์ด ที่สำคัญคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอำนาจการต่อรองระหว่างรายเล็กกับบริษัทขนาดใหญ่ 

คำถามคือทำไมต้องดึงบริษัทใหญ่ๆเข้ามาช่วย   อธิบายง่ายๆอย่างนี้ครับ

การค้าขายสำหรับรายย่อย ถ้าเป็นการขายหน้าร้านของตนเอง Traffic ของลูกค้า อาจจะมีข้อจำกัด ดังนั้น ธุรกิจ SME รายย่อย เหล่านี้ จะมีความจำเป็นที่เจ้าต้องมีการค้าขาย กับ คู่ค้ารายใหญ่ๆ ซึ่งมีสาขาจำนวนมากทั่วประเทศ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กระจายเป็นวงกว้าง ถ้าสินค้าโดน ยอดขายกระฉูดแน่นอน แต่หากต้องแลกมาด้วยการดึงเงิน เครดิตเทอมกันยาว 3-6 เดือน สำหรับ ธุรกิจ SME ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ไม่มีวงเงิน OD PN หรือ ขายลดเช็ค ขาย Invoice จะทำกันอย่างไรละครับ


การขาดสภาพคล่องนับเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของ SMEs ที่นำไปสู่ปัญหาด้านหนี้สินและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โดย SMEs ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาด้านการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “การถูกคู่ค้ายืดหรือขยายระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้า หรือ ระยะเวลา Credit term” 

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับธุรกิจขนาดใหญ่ มักมีแนวโน้มจะถูกต่อรองขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้น โดยปี 2559 ระยะเวลา Credit term สำหรับบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term  โดยเฉลี่ยที่ SMEs ให้แก่คู่ค้าที่ประมาณ 30 – 45  วัน

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษา ประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าภาคธุรกิจมีการทำธุรกิจด้วยการซื้อขายด้วยเงินสด ในการทำธุรกิจเพียง 4% แต่เกือบ 96% มีการใช้สินเชื่อการค้า หรือ Credit term อีกทั้งพบว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ภาคธุรกิจมักมีการขยายเครดิตเทอมออกไป โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ที่มีการยึดเครดิตเทอมออกไปสูงถึง 4 เดือน หรือ 120 วันหากเทียบกับการชำระเงินคืนเดิมที่อยู่ราว 30-45 วันเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่มีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างมาก 


ทั้งนี้การขยายระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่า มีผลกระทบต่อด้านสภาพคล่องต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงถึง 38.5% และมีหนี้สินมากขึ้น 27.6% และมีความสามารถชำระหนี้ลดลง 16.2% ส่งผลให้ธุรกิจถูกผลกระทบจากการขยายเครดิตเทอม มีการปรับตัว โดยการเสนอให้ลูกค้าชำระบางส่วนถึง 40.6% และให้ส่วนลดเพื่อจูงใจในการชำระเงินตามกำหนดเดิมหรือเร็วขึ้น 35.5% และบางส่วนมีการหันไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือสินเชื่อนอกระบบถึง 15.3%

 

ดังนั้จึงมีข้อเสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้ และบทลงโทษทางกฎหมาย และมีแรงจูงใจด้านบวกให้ ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้การบรรเทาและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ SMEs  สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ชัดเจน 3 ประการ คือ

 

    1. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน ระยะเวลา 30 – 45 วัน

    2. เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูล ประจำปี (แบบ 56-1)  สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    3. ศึกษาและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้าง แรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี  (Best practice) ในการลดระยะเวลา Credit term

ทีนี้เรามาดูของต่างประเทศบ้างว่าเขาขยายเครดิตเทอมกันอย่างไร 


นางสาวฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า เพื่อลดปัญหาการยืดระยะเวลาจ่ายเครดิตเทอม ต่างประเทศมีการกำหนดเกณฑ์ การจ่ายเครดิตเทอม เช่น สหราชอาณาจักร มีการกำหนดการจ่ายเครดิตเทอมภายใน 60 วัน หากเกินมีบทลงโทษ โดยการตัดสิทธิการธุรกิจร่วมกับภาครัฐ ขณะที่ออสเตรเลียมีการให้จ่ายเครดิตเทอมภายใน 30 วัน โดยหากเกิน ให้เพิกถอน Certlflcate ขณะที่ อียู มีการกำหนดเครดิตเทอมที่ 60 วัน โดยหากเกินให้จ่ายค่าปรับ เป็นดอกเบี้ย รวมถึงจีนที่ล่าสุดมีการกำหนด ให้จ่ายเครดิตเทอม ภายใน 30 วันสูงสุดไม่เกิน 60 วัน โดยกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ตามอัตราตลาด 

“การกำหนดเครดิตเทอมนี้ใกล้เคียงกับกฎบังคับของจีน เพราะเราพบว่า การจ่ายเครดิตเทอมปัจจุบันรายใหญ่มักมีอำนาจในการต่อรอง ทำให้การจ่ายเครดิตเทอมยาวนานขึ้น ดังนั้นกว่าเอสเอ็มอีจะได้เงินจากรายใหญ่ ก็นาน ซึ่งไม่สมดุลกับที่เอสเอ็มอีจะต้องนำเงินไปจ่ายกับซัพพลายเออร์ต่อที่ค่อนข้างสั้น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดปัญหา ขาดสภาพคล่องเป็นโดมิโน เพราะการบริหารเงินสดของคนตัวเล็กทำได้ยาก”

รายการเชื่อว่า เอสเอ็มอีที่ได้โอกาสขยายระยเวลาเคดิตเทอมออกไป หรือเอสเอ็มอีที่ทำการค้าขายกับบริษัทรายไหญ่อย่าง 100 บริษัทที่มีการขยายเครดิตเทอมให้ คงมีปริมาณไม่มาก หรือหากคิดเป็นเอ็มอีทั้งระบบคงไม่ได้   หากจะต้องรอดตามที่รัฐและเอกชนต้องการ ก็ต้องช่วยพยุงให้มากกว่านี้ 

ปิดท้าย เรามาสรุปมาตการ ที่รัฐบาลช่วยเหลือ SMEs ที่ กระทรวงการคลัง แบงก์ออมสิน บสย. และ ธพว. ปล่อยกู้ไม่อั้นช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็ก กัน มาตรการเหล่านี้แหล่ะที่ต้องใช้คำว่าต้องรอดไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง และเพียงพอโดยมีวงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาทใน 3 กลุ่ม ได้แก่



1. กลุ่ม SMEs ทั่วไป

- สินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท

- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan

- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี 


2. กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว

- สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

- สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี


3. กลุ่ม SMEs รายย่อย และประชาชน

- สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1-2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธ.ค. 63

“มาตรการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.นี้ เหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ และน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดอีกอย่างหนึ่งว่าในที่สุดแล้ว มาตรการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนระดมออกมาช่วยเอสเอ็มอีให้รอดนั้น     เอสเอ็มอีรอดได้สักกี่มากน้อยเท่าไหร่   ที่รอดก็น่าจะเป็นเพชรที่ถูกเจียรนัยจากโควิดจนเป็นเพชรเม็ดงาม ที่จะสามารเดินหน้าช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้    


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน “ลดเหลื่อมล้ำ! ช่วย SMEs!!เราต้องรอด

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=6pzeMywVkvI


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง