เปิดสถิติศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน ร้องเรียนเรื่อง ปัญหาปากท้องมากที่สุด
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงประจำเดือน ว่า ผลการดำเนินงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในไตรมาส 2 ของปี 2567 คือ ช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2567
พบว่ามีประชาชนร้องเรียนผ่านทุกช่องทางของ ศรส. รวมทั้งสิ้น 47,110 กรณี ซึ่งแต่ละช่องทางที่มีการร้องเรียนเข้ามาผ่านทางสายด่วน พม. 1300 มากที่สุด 42,930 กรณี รองลงมา คือ สื่อสังคมออนไลน์ 3,483 กรณี และการมารับบริการด้วยตนเอง 452 กรณี
สำหรับพื้นที่ที่ให้บริการมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 28,849 กรณี ปริมณฑล 2,867 กรณี ภาคกลาง 5,951 กรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,825 กรณี ภาคใต้ 3,254 กรณี และภาคเหนือ 1,364 กรณี
ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหารายได้ความเป็นอยู่ ตามด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะเกิดการระหองระแหงกัน กระทบถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่งผลก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
สถิติความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นถึงร้อยละ 69 ในขณะที่ ร้อยละ 31 เป็นความรุนแรงภายนอกครอบครัว โดยความรุนแรงจะเกิดกับเด็กและเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ ตามมาด้วยสตรี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่ ศรส. จัดเก็บแต่ละเดือน ที่ประชุมเห็นว่าควรส่งให้กับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการของจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้แต่ละจังหวัดเข้าใจสภาพปัญหาสังคมและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับไตรมาสแรกยังเท่าเดิม หากมองในแง่ดีคือไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างไรใด ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยตรง เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้น ทุกคนมีโอกาสจับจ่ายใช้สอย ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะดีขึ้นและความรุนแรงในครอบครัวจะลดลงไปตามลำดับ
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีคนไร้บ้านบุกทำร้ายร่างกายประชาชนทั่วไปที่ย่านอ่อนนุชนั้น เบื้องต้นขอฝากพี่น้องประชาชนว่าเมื่อพบเห็นคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อน หรือขอทาน ให้รีบแจ้งมาที่ ศรส. ผ่านทางสายด่วน พม. 1300 ซึ่งการแก้ปัญหานั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการที่เราเร่งส่งทีมเคลื่อนที่เร็วไปยังจุดที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นขอทานหรือคนไร้บ้านให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นไปก่อเหตุต่างๆ ซึ่งคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะมีอาการทางจิตเล็กน้อย
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ที่อยู่ในครอบครัว และถ้าหากว่ามีปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ ให้ปรึกษากับทางแพทย์ หรือแจ้งกับ ศรส. ผ่านทางสายด่วน 1300 เพื่อให้เราประสานงานกับทีมสหวิชาชีพไปประเมินก่อนที่จะออกมาจากบ้าน เพราะว่าแนวโน้มคือเมื่อออกมาจากบ้านแล้ว เขาจะไม่อยากกลับและเมื่อออกจากบ้านนานขึ้นเรื่อยๆ อาการทางจิตนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นหรือภายในบ้านมีปัญหามีแนวโน้มดังกล่าว ขอให้แจ้งมาที่ ศรส. ผ่านทางสายด่วน พม. 1300 ซึ่ง เราจะส่งทีมสหวิชาชีพไปเพื่อประเมินสุขภาพกายและสุขภาพใจของบุคคลดังกล่าว
ปัญหาที่ยังมีการขอทานในย่านธุรกิจอยู่บ้างนั้น ตนขอย้ำอีกครั้งในการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คือ ขอความกรุณาแจ้งสายด่วน พม. 1300 เราจะส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปดำเนินการ และเมื่อเรานำขอทานไปดำเนินคดีแล้ว ถ้าหากว่าเป็นคนต่างชาติ จะถูกส่งกลับประเทศ ถ้าเป็นคนไทยจะต้องเข้าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ว่าแนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้ทานกับขอทาน เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนอาจมีความเห็นว่ากระทรวง พม. ผลักความรับผิดชอบมาให้กับพี่น้องประชาชนขอเรียนว่าในเมื่อขอทานได้เงินจากพี่น้องประชาชนคนที่ให้เงินกับขอทานก็เท่ากับว่ากำลังส่งเสริมให้มีขอทานในสังคม ดังนั้นการแก้ไขปัญหาขอทานนั้นกระทรวง พม. เราดำเนินการเต็มที่ในการที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งต้องขอความร่วมมือว่าอย่าไปให้ทานกับขอทาน เมื่อรายได้ไม่มี ขอทานจะหมดไป ส่วนกรณีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติยังให้ทานกับขอทานก็อาจจะทำป้ายรณรงค์ติดไว้ หรือมีป้ายเตือนเอาไว้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจะสามารถสื่อความหมายให้กับพี่น้องประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วย
ภาพจาก รัฐบาลไทย