รีเซต

สศช. เผยปี 66 นักดื่ม - สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภค

สศช. เผยปี 66 นักดื่ม - สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภค
TNN ช่อง16
4 มีนาคม 2567 ( 13:33 )
29
สศช. เผยปี 66 นักดื่ม - สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของการบริโภค

วันนี้ (4 มี.ค. 67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566  ซึ่ง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 0.81% หรือมีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน


ส่วนผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยการจ้างงานในภาคเกษตร ขยายตัว 1.0% ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.0% โดยสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ขยายตัวสูงสุดที่ 8.0% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น


ขณะที่ภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้มีงานทำ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.8% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสาขาก่อสร้าง ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวม ปี 66 อยู่ที่ 0.98% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562

นายดนุชา กล่าวว่า การที่การจ้างงานกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ค่าจ้างแรงงานยังต่ำอยู่นั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถของแรงงาน เช่น การ Upskill reskill เพื่อให้มีทักษะที่สูงขึ้น และได้รับค่าจ้างสูงขึ้น และต้องไปหารือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


"แรงงานไร้ฝืมือเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่ยังใช้แรงงานไร้ฝีมืออยู่ จึงต้องมีการเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และในการผลิตต้องใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อนำแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญมาใช้ในการผลิต" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ


ส่วนกรณีที่ไตรมาส 4/2566 พบว่าการจ้างงานในภาคการผลิต ลดลง 2.3% จะเป็นการสะท้อนถึงการผลิตในภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในปี 66 ก็ชะลอมาตัวตลอด แต่เพิ่งมาปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภายนอกด้วย รวมถึงภาคการผลิตมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาทดแทน จึงลดกำลังแรงงานคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้แรงงานภาคการผลิตปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา


นายดนุชา ยังกล่าวอีกว่า ไตรมาส 4/2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่ม โดยแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 0.7% สำหรับภาพรวมปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของการบริโภค และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ที่อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักดื่มมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการสูบบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ


ภาพจาก: AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง