รีเซต

รวมความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของโลก และประเทศไทย

รวมความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของโลก และประเทศไทย
TrueID
10 ธันวาคม 2563 ( 12:53 )
2K
รวมความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของโลก และประเทศไทย

โลกกำลังเข้าใกล้การเอาชนะโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน ถือเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการรอดพ้นจากวิกฤติร้ายครั้งนี้

 

 

Image by Pete Linforth from Pixabay 

 

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ระบาดวิทยา ที่จะค้นหาผู้ป่วยหมายเลขศูนย์ ที่เชื่อว่ามีหลายราย แต่ละรายอาจมีเชื้อโควิด-19 ที่ต่างสายพันธุ์ และยังเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะสู้กับเชื้อโรคร้ายตัวนี้ ส่วนอีกหนึ่งความพยายามที่พิสูจน์ให้เห็นว่า "มนุษย์" จะไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งใด เมื่อเผชิญโรคร้าย ก็ย่อมมีความหวังที่จะสร้างเครื่องมือป้องกันให้ได้ โดยความคืบหน้าเรื่อง “วัคซีน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นความหวังในการยับยั้งวิกฤติการณ์การระบาดครั้งนี้ หลายประเทศมหาอำนาจของโลกจึงต่างทุ่มสรรพกำลังในการค้นคว้าวิจัย “วัคซีนโควิด-19” อย่างเต็มกำลัง เบื้องต้นเราได้รวบรวมความคืบหน้าของแต่ละชาติมาไว้ดังนี้

 

 

Image by Tayeb MEZAHDIA from Pixabay 

 

สหรัฐอเมริกา

 

การประกาศความสำเร็จของ บริษัท โมเดอร์นา อิงค์ และ บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ จำกัด ซึ่งเป็นสองบริษัทยารายแรกที่ได้ประกาศผลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งปรากฏให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่า สร้างความหวังให้กับโลกที่จะก้าวพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้อีกครั้ง

 

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐฯ

 

เริ่มด้วย โมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ ประกาศว่า ผลการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟสที่ 3 พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากกว่า 94% โดยโมเดอร์นาได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับสถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30,000 ราย

 

ส่วนทางด้านไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และไบโอเอ็นเทค ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัททั้งสองพัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19

 

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมามีการยืนยันประสิทธิภาพการต้านไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยโมเดอร์นา อิงค์ ยืนยันประสิทธิภาพที่ 94.5% ส่วนไฟเซอร์ อิงค์ และไบโอเอ็นเทค ได้ยืนยันประสิทธิภาพอยู่ที่ระดับ 95%  ทั้งนี้ นพ.มอนเซฟ สลาอุย หัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของโครงการโอเปอเรชั่น วาร์ป สปีด (Operation Warp Speed) ของสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 70 จากทั้งหมด 330 ล้านคนจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในคนหมู่มากตามเป้าหมายของรัฐบาลภายในเดือนพฤษภาคมปี 2021 โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐหรือเอฟดีเอ (FDA) จะอนุมัติผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ และไบโอเอนเทคของเยอรมนีช่วงกลางเดือนธันวาคม ถือเป็นโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ทั้งยังระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะถูกจัดส่งไปรัฐต่างๆที่ต้องการวัคซีนภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่านการอนุมัติ

 

สำหรับการกำหนดกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนนั้น นพ.สลาอุย ได้ระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) และคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าคนกลุ่มใดควรจะได้รับวัคซีนก่อน คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานแนวหน้า รวมถึงบุคคลที่เสี่ยงติดเชื้อและมีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ทั้งนี้ ที่ปรึกษาภายนอกขององค์การอาหารและยาสหรัฐมีกำหนดประชุมร่วมกันวันที่ 10 ธันวาคม เพื่อพิจารณาการขออนุมัติใช้วัคซีนฉุกเฉินของไฟเซอร์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 95 ขณะที่วัคซีนที่พัฒนาโดยโมเดอร์นา อิงค์ บริษัทเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐฯคาดว่าจะแยกขออนุมัติเป็นลำดับต่อไปภายในเดือนธันวาคมต่อไป

 

การฉีดวัคซีนให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ

 

สำหรับ แผนการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯให้กับประชาชน เนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อการเข้ารับตำแหน่งของ ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แต่เบื้องต้น มีการประกาศเป็นนโยบายล่วงหน้าออกมาแล้วว่า โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมแผนการทำงานในช่วง 100 วันแรก หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021 จะตั้งเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านเข็ม ภายใน 100 วันแรก ให้กับพลเมืองสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี ทางโดนัล ทรัมป์ ประกาศยกย่องความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในสมัยของตนเอง ผ่านการประชุม Operation Warp Speed เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ว่าวัคซีน 100 ล้านโดสแรกจากบริษัทยาไฟเซอร์ (Pfizer) จะเพียงพอต่อชาวอเมริกัน 50 ล้านคน จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หากได้รับการอนุมัติรับรองจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายว่าจะเป็นไปได้ และว่าเป็นปาฏิหาริย์มากทีเดียว

 

Image by Markus Winkler from Pixabay 

 

อังกฤษ

 

การฉีดวัคซีนโควิด-19เข็มแรกของโลก

 

ประเทศอังกฤษ กลายเป็นชาติแรกของโลก ที่อนุมัติการฉีดวัคซีนให้กับมนุษย์ นอกเหนือยจากการฉีดเพื่อการทดลอง โดยเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่  8 ธ.ค. 63  ให้กับคุณยาย มาร์กาเร็ต คีแนน ชาวอังกฤษวัย 90 ปี ถือเป็นคนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบออนเทค จากนั้น ทยอยฉีดให้กับชายสูงวัยอายุ 80 ปี และกลุ่มเสี่ยงตามมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสองสามวันแรกจะมีรายงาน ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับกลุ่มคนที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง แต่ยังไม่พบความผิดปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ การเดินหน้าฉีดวัคซีนในอังกฤษยังคงดำเนินการต่อไป 

 

การพัฒนาวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

 

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 ประสบผลสำเร็จ ที่ชื่อว่า วัคซีน AZD1222 หรือ "ChAdOx1 nCoV-19" ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 1,077 ราย พบว่า อาสาสมัครสามารถสร้างแอนติบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับโควิด เกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถลดลงได้โดยการใช้ยาพาราเซตามอล และไม่มีอาการร้ายแรงจากการทดลอง

 

อย่างไรก็ดี เส้นทางการทดลองไม่ได้สวยหรู เมื่อพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงรายหนึ่งมีอาการอักเสบที่ไขสันหลังอย่างรุนแรง ทำให้โครงการทดลองฯ ต้องหยุดชะงักเพื่อสอบสวนสาเหตุดังกล่าว แต่ภายหลังได้กลับมาทดสอบต่อในเฟสที่ 3 ในสหราชอาณาจักรอีกครั้ง  โดยแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า ได้รับคำยืนยันจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของอังกฤษว่า สามารถเริ่มการทดลองวัคซีนต่อได้ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศอื่นนั้นยังไม่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ ล่าสุดผลทดลองในเบื้องต้นพบว่า วัคซีนวิจัย AZD1222 ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกันพัฒนา มีประสิทธิผลเกินข้อกำหนดของ WHO โดยการให้วัคซีนแบบแรก คือ

 

  • การให้แบบแรก โดยฉีดครึ่งโดสแล้วฉีดตามด้วยอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่า ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 90%

 

  • การให้วัคซีนแบบที่สอง คือ การฉีดวัคซีน 1 โดสแล้วฉีดตามอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ 62%

 

จากการให้วัคซีนทั้ง 2 แบบค่าเฉลี่ยของประสิทธิผลโดยรวมอยู่ที่ 70.4%  ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด 19 ต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50% นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความปลอดภัยสูง พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน AZD1222 ไม่มีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงหรือต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และมีความปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ ในขั้นตอนถัดไปบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะนำเสนอผลการทดลองเบื้องต้นที่สมบูรณ์ (full interim) เพื่อการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต่อไป และข้อที่เป็นจุดเด่นของวัคซีนชนิดนี้ คือ วัคซีนสามารถจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในระบบปกติของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

 

Image by David Peterson from Pixabay 

 

แคนาดา 

 

ประเทศแคนาดา โดยกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ว่า แคนาดาจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหราชอาณาจักร และบาห์เรน ที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค โดยสัปดาห์หน้าจะมีการจัดส่งและฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับบุคคลทั่วไปจะเริ่มได้ในเดือนเมษายน ปีหน้า และคาดว่าชาวแคนาดาทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนครบภายในสิ้นเดือนกันยายน ปีหน้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา กล่าวในที่ประชุมรัฐสภา ว่า เป็นวันที่ดีสำหรับชาวแคนาดา สัปดาห์หน้าแคนาดาจะได้รับวัคซีนชุดแรกจำนวน 30,000 โดส

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศว่าแคนาดาอาจเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า หลังจากรับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ชุดแรกแล้ว พร้อมเผยว่าแคนาดาจะได้รับวัคซีนชุดแรกสูงสุด 249,000 โดส ก่อนสิ้นปี 2020 ซึ่งจะช่วยให้แผนการฉีดวัคซีนก้าวหน้าอีกขั้น โดยคาดว่ากระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาจะอนุมัติการใช้งานวัคซีนไฟเซอร์ในสัปดาห์นี้

 

 

Image by Evgeni Tcherkasski from Pixabay 

 

เปิดประสบการณ์ที่แรก กักตัวใน ASQ โรงแรมหรูสู้โควิด19 >>> คลิกที่นี่

 

สหพันธรัฐรัสเซีย

 

รัสเซีย เป็นชาติแรกที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข รัสเซีย เดินหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชุดแรก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แม้ว่าในช่วงแรกในการทดลองตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม จะมีข้อกังขาจากองค์การอนามัยโลกว่าเร่งใช้วัคซีนเร็วเกินไปอาจจะเป็นอันตราย

 

อีกทั้ง เมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ออกมาประกาศเองว่า รัสเซียเป็นผู้สร้างวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นประเทศแรกของโลก มีชื่อว่า “สปุตนิก 5”  ผลงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา เป็นสถาบันทางการแพทย์ใกล้กรุงมอสโก ทำให้สร้างความหวังอีกด้านหนึ่งให้กับประชากรโลก

 

โดยก่อนหน้านี้ มิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนตัวนี้ปลอดภัย ถึงแม้ว่าการทดลองทางคลินิกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และการทดสอบระยะสุดท้ายที่ต้องทดลองกับคนมากกว่า 2,000 คน

 

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซีย สถาบันกามาเลยา ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติ และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย ( อาร์ดีไอเอฟ ) ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย. ระบุว่า  การทดสอบวัคซีน "สปุตนิก 5" ระยะที่สาม ในอาสาสมัครหลายหมื่นคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบชุดแล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันได้ "91.4% ในวันที่ 28 แล้วเพิ่มเป็น "มากกว่า 95%" ในวันที่ 42


 
แม้การได้รับวัคซีนก่อให้เกิดผลข้างเคียงบ้างแต่เป็นเพียงระยะสั้น และไม่ถือว่ารุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาสามัญประจำบ้าน ทั้งนี้ วัคซีนสปุตนิก วี สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ( 35.6 ถึง 46.4 องศาฟาเรนไฮต์ ) ในขณะที่วัคซีนของบริษัทคู่แข่งอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ต้องการอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น
 

 

สำหรับราคาขายปลีกของวัคซีนสปุตนิก 5 ตามรายงานเบื้องต้นนั้น จะอยู่ที่โดสละ "ไม่ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐ" ( ราว 303.34 บาท ) หรือฉีดครบ 2 โดส ในราคา "น้อยกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐ" ( ราว 606.67 บาท ) ซึ่งถูกกว่าวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาจากสหรัฐฯประมาณ 2 เท่า แน่นอนว่าชาวรัสเซียจะได้รับวัคซีนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น ขณะที่อาร์ดีไอเอฟซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านงบประมาณของโครงการผลิตวัคซีน ตั้งเป้าการส่งออกวัคซีนสู่ตลาดโลก "มากกว่า 1,000 ล้านโดส" ภายในปี 2564

 

Image by Ri Butov from Pixabay 

 

อิสราเอล

 

ความคืบหน้าล่าสุดของการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของประเทศอิสราเอล ในชื่อ “บรีไลฟ์” (BriLife) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยทางชีววิทยาอิสราเอล(IIBR) ซึ่งเป็นหน่วยงานของโรงพยาบาลชีบา ทางตอนกลางของอิสราเอล โดย ศูนย์การแพทย์ฮาดัสซาห์และศูนย์การแพทย์ชีบาของอิสราเอล ประกาศเริ่มการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในมนุษย์ โดยนักศึกษาสาขาธุรกิจ อายุ 26 ปี ถูกฉีดวัคซีนตัวใหม่ที่ชื่อ “บรีไลฟ์” (BriLife) แล้ว  ขณะเดียวกันมีอาสาสมัครอีกคน อายุ 34 ปี ที่ได้รับวัคซีนตัวเดียวกัน ที่โรงพยาบาลฮาดัสซาห์ในนครเยรูซาเล็ม

 

มีรายงานระบุว่า จะมีอาสาสมัครอีกราว 80 คน ได้รับวัคซีนตัวนี้ที่โรงพยาบาลสองแห่งข้างต้นภายในเดือน พ.ย. โดยครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีนจริง และอีกครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนหลอก หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ คณะนักวิจัยจะทำการทดสอบว่าร่างกายของอาสาสมัครที่รับวัคซีนได้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาหรือไม่

 

การทดลองระยะที่ 2 ซึ่งถูกกำหนดไว้ในเดือนธันวาคม จะรวมการทดสอบความปลอดภัยในอาสาสมัคร 960 คน ส่วนการทดลองระยะที่ 3 และระยะสุดท้าย ซึ่งใช้เวลาราว 6 เดือน จะทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวระหว่างเยือนโรงพยาบาลชีบา ว่า การพัฒนาวัคซีนคือทางออกจากวิกฤติโรคโควิด-19 ที่แท้จริง ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ช่วยให้เรามีความหวัง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้สนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ (16 พ.ย.) เพื่อหารือความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงโอกาสในการยกระดับความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัสเซียอีกด้วย

 

Image by fernando zhiminaicela from Pixabay 

 

สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

จีน จดสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ฉบับแรกให้กับ บริษัท แคนชิโน ไบโอโลจิคส์ อิงค์ ร่วมกับสถาบันวิทยาการทหาร พัฒนาวัคซีนที่มีชื่อว่า Ad5-nCOV เป็นการพัฒนาวัคซีนโควิดจากการตัดต่อสารพันธุกรรม หรือไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector vaccine) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน นับเป็นก้าวสำคัญที่จีนเข้าสู่ทดลองทางคลินิก ซึ่งจะเตรียมนำไปทดลองในซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งแคนชิโนกำลังเจรจากับรัสเซีย บราซิล และชิลี เพื่อทำการทดลองในประเทศเหล่านี้

 

ขณะที่สถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น ภายใต้บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีนในเครือซิโนฟาร์ม เผยแพร่รายงานผลทดลองวัคซีนโควิดทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ชนิดเชื้อตาย หรือเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว (whole-virus vaccines) ทดลองกับอาสาสมัครแบ่งเป็น 96 คน เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 224 คน เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2 พบว่า วัคซีนกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในบรรดาอาสาสมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

 

บริษัท ไชน่า เนชันเเนลไบโอเทคกรุ๊ป ได้เผยเมื่อต้นเดือน ส.ค.ว่า โรงปฏิบัติการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด ชนิดเชื้อตายในกรุงปักกิ่งได้รับการยืนยันว่า ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ และยังมีโรงปฏิบัติการอีกหนึ่งแห่งที่เมืองอู่ฮั่น ทั้ง 2 แห่งสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายได้มากถึง 220 ล้านโดสต่อปี

 

ล่าสุด วัคซีนต้นแบบ 4 ตัวที่จีนอนุมติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินกับบุคลากรที่จำเป็น หรือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่าง ๆ แม้ว่าการทดสอบทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

 

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ของจีนทั้ง 4 ตัวที่นำมาใช้ในวงจำกัดอยู่ในช่วงการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์เฟส 3 ประกอบด้วย

 

  • วัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm ที่พัฒนาร่วมกับ Wuhan Institute of Biological Products

 

  • วัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm ที่พัฒนาร่วมกับ Beijing Institute of Biological Products

 

  • วัคซีนโควิด-19 ของ CanSino Biologics ที่ใช้อย่างจำกัดในกองทัพจีน

 

  • วัคซีนโควิด-19 ของ Sinovac Biotech ถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน

 

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินนี้ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนจีนเป็นวัคซีนตัวใดใน 4 ตัวดังกล่าว โดยวัคซีนของ Sinopharm ใช้ไวรัสที่ตายแล้วและไม่แพร่กระจายในเซลล์ของมนุษย์ฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกัน และต้องฉีดทั้งหมด 2 โดส

 

วัคซีนโควิด-19 ของจีนอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ในต่างประเทศซึ่งมีอาสาสมัครเกือบ 60,000 คน และมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้เข้าร่วมมากกว่า 40,000 คน 14 วันหลังจากที่พวกเขาได้รับวัคซีนโดสที่สอง ข้อมูลหนึ่งระบุว่า แรงงานก่อสร้าง นักการทูต และนักศึกษา ที่เดินทางไปต่างประเทศหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm แล้วไม่มีใครติดเชื้อเลย

 

ขณะเดียวกัน มีรายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า หน่วยงาน อันวีซา (Anvisa) หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพแห่งชาติของบราซิล ได้ระงับการทดลองวัคซีนทางการบราซิลสั่งระงับการทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตัวสำคัญของจีน ที่ใช้ชื่อว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) ที่พัฒนาขึ้นโดย ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน เป็นการชั่วคราวในช่วงปลายเดือนตุลาคม หลังจากมีรายงานพบ "อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการใช้ยา" แต่ต่อมา มีการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เข้าร่วมทดลองว่า เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาการป่วยหรือผลกระทบจากการทดลอง ทำให้บราซิลประกาศเดินหน้าทดลองต่อ

 

นอกจากนี้  สำนักงานใหญ่ของซิโนแวค ในกรุงปักกิ่ง ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า วัคซีนที่บริษัทคิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง มีความปลอดภัยสูงสุด และมีความเข้าใจต่อมาตรการตรวจสอบของรัฐบาลบราซิล

 

 

Image by Couleur from Pixabay 

 

เปิดไทม์ไลน์ 6 ผู้ป่วยโควิด กทม. ขึ้น MRT และ BTS >>> คลิกที่นี่

 

ประเทศไทย

 

                  รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี ได้ร่วมมือในการผลิตวัคซีนวัคซีน AZD1222 กับทางแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด วางแผนจะผลิตจำนวนมากโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ขณะนี้ได้สั่งจองล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นตัวแทนจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า และมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อวัคซีนจากการจองดังกล่าว ครั้งนี้ จะเป็นการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมาย 13 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2564

 

                  สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย มีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่

 

  • วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด
  • วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด

 

ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต (scale up pilot plant) เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้คือ ในไตรมาสแรกของปี 2564

 

สำหรับการเตรียมการนำวัคซีนมาให้บริการนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างติดตามผลการวิจัยวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อทราบข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ข้อควรระวัง เมื่อมีวัคซีนที่วิจัยสำเร็จพร้อมจำหน่าย จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณารับรอง และเตรียมคำของบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีน โดยทำงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการนำเข้าวัคซีน

 

                  สำหรับความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีการลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาซื้อวัคซีน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนในวงเงิน 6,049,723,117 บาท โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าวต่อไป คาดการณ์ว่า กลางปี 2564 จะเริ่มทยอยฉีดให้กับ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกได้

 

Image by Helena Jankovičová Kováčová from Pixabay 

 

 

วัคซีนโครงการ COVAX  องค์การอนามัยโลก

 

                  ความคืบหน้าของการทดลองวัคซีนโควิด-19 จากทุกชาติ ถือเป็นพลังความหวังให้กับมวลมนุษยชาติในการก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลอีกหลายประการโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งกรณีดังกล่าว องค์การอนามัยโลก ได้ขับเคลื่อนโครงการ COVAX เพื่อเป็นโครงการที่ประเทศต่างๆ กว่า 170 ประเทศเข้าร่วมดำเนินการกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อทำการพัฒนา, ผลิต และจัดหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างเท่าเทียม สร้างการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในทั่วทุกมุมโลก และทุกกลุ่ม เพราะการจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ การได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงจะเป็นเครื่องมือสำคัญ

 

                  โครงการ COVAX จะใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ภายใต้กลไกนี้ โครงการ COVAX จะรวบรวมกำลังซื้อจากประเทศที่เข้าร่วมและให้การรับประกันปริมาณการสั่งซื้อจากกลุ่มวิจัยวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ ก่อนจะเปิดทางให้ผู้ผลิตวัคซีนที่มีความเชี่ยวชาญ ขยายการผลิตจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนด้านการผลิตวัคซีนในช่วงต้นจะมีความเสี่ยง แต่ก็ทำให้ประเทศที่เข้าร่วมมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาสำเร็จแล้วได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

                  นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการ COVAX ไม่เพียงขึ้นอยู่กับการลงนามเข้าร่วมของประเทศต่างๆ แต่ยังเป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อปิดช่องว่างด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกลไกในการสนับสนุนประเทศผู้เข้าร่วมที่มีรายได้น้อยอีกด้วย

 

 

 

Image by Jeyaratnam Caniceus from Pixabay 

 

ความคืบหน้าการอนุมัติการฉีดวัคซีนของนานาชาติ 

 

บาเรนห์

รัฐบาลได้อนุมัติในวันที่ 4 ธ.ค. ให้ใช้วัคซีนต้านโรคโควิด-19  ของบริษัทไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว โดยนับเป็นประเทศที่ 2 ที่อนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าว หลังจากที่อังกฤษเป็นประเทศแรกที่อนุมัติ เน้นฉีดให้กับกลุ่ทเสี่ยงสูงเป็นอันดับแรก 

 

 

บราซิล 

มื่อวันที่ 9 ธ.ค. รัฐบาลบราซิลประกาศแผนการเริ่มใช้งานวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของไฟเซอร์ (Pfizer) ภายในเดือนธันวาคมปีนี้หรือมกราคมปีหน้าตามการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ

 

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรต

กระทรวงสาธารณสุขของยูเออี ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ 9 ธ.ค.ว่า ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาโดยบริษัทเภสัชกรรมแห่งชาติจีน ( ซิโนฟาร์ม ) และเป็นชาติแรก ที่ไม่ใช่จีน ได้รับรองวัคซีนตัวนี้ หลังผลการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกระยะที่สาม ภายในประเทศ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กับอาสาสมัคร 31,000 คน จาก 125 ประเทศ พบว่า "มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 86%"

 

แผนการทดลองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นความร่วมมือระหว่าง CNBG กับบริษัทปัญญาประดิษฐ์ในอาบูดาบี Group 42 (G42) และกรมอนามัยอาบูดาบี Sinopharm และ G42 ได้ขยายการทดลองไปยังอียิปต์จอร์แดนและบาห์เรนด้วย รวมทั้งในสัปดาห์เดียวกัน อาบูดาบีซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  กำลังมองหาอาสาสมัครเพื่อเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 ของรัสเซียหรือที่เรียกว่า Sputnik V. อีกด้วย

 

 

ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ของการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ที่นำมารายงานทั้งหมดนี้ ยังจะไม่สิ้นสุด และยังไม่รวมไปถึงปัจจัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการจัดสรรโควตาวัคซีน การจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีน การจัดเก็บ หรือแม้กระทั่งการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ยังต้องเตรียมรับมือกันต่อไป

 

แต่อย่างน้อยวันนี้ “ความหวัง” ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งแล้ว บนความสำเร็จของการวิจัยวัคซีนนั่นเอง.

 

 

>>> รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

 

ข้อมูลประกอบ : https://sputnikvaccine.com/ , https://www.xinhuathai.com/ , https://www.infoquest.co.th/ , www.who.int , www.bangkokbiznews.com , https://www.bbc.com/ , https://thestandard.co/covax/ , i-newsmedia.net

 

ปกภาพ : Image by Gerd Altmann from Pixabay 

 

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง