รู้หรือไม่ ? เราจะสูงขึ้นได้เมื่อไปอยู่บนอวกาศ แต่อาจมีกระทบตามมาร้ายแรงถึงชีวิต
เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความสูงของมนุษย์เราก็แทบจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าหากเราได้มีโอกาสไปอาศัยอยู่บนอวกาศซึ่งอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก ความสูงของเราจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 3 นั่นหมายความว่า หากบนโลกเราสูง 180 เซนติเมตร ความสูงของเราก็จะเพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตรกลายเป็น 185 เซนติเมตรเมื่ออยู่บนอวกาศ
แต่อย่าเพิ่งคิดว่านั่นเป็นความหวังในการเพิ่มความสูง เพราะเมื่อกลับมายังโลก ความสูงของมนุษย์ก็จะหดกลับลงมาเท่าเดิม และที่สำคัญคือมันส่งผลเสียต่อส่วนหลังของเราด้วย
ผลลัพธ์เหล่านี้ ได้มาจากการวิจัยเมื่อปี 2016 โดยนักวิจัยได้ตรวจสอบร่างกายนักบินอวกาศขององค์การนาซา (NASA) จำนวน 6 คน ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ 4 - 7 เดือน โดยตรวจสอบตั้งแต่ก่อนขึ้นบิน เมื่อกลับลงมายังโลกแล้วก็ตรวจสอบทันที และ 2 เดือนหลังจากกลับมายังโลกก็ตรวจสอบอีกครั้ง
ซึ่งผลลัพธ์พบว่า ขณะอยู่บนอวกาศ มวลกล้ามเนื้อลำตัว (lean muscle mass) ที่รองรับกระดูกสันหลังจะฝ่อ เฉลี่ยร้อยละ 19 เมื่อกลับมาบนโลกแล้วพบว่ามวลกล้ามเนื้อลำตัวสามารถฟื้นฟูได้ประมาณ 2 ใน 3 ก่อนขึ้นบินเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้นักบินอวกาศมีความเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า นอกจากนี้ผลลัพธ์อีกอย่างก็คือนักบินอวกาศสามารถสูงขึ้นได้ เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วง กระดูกสันหลังจึงยืดตัวได้ แต่เมื่อกลับมายังโลกความสูงก็จะกลับมาเท่าเดิมก่อนขึ้นไปยังอวกาศ
ลูอิส ดาร์ทเนลล์ (Lewis Dartnell) นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ เผยข้อจำกัดอีกอย่างของการเดินทางไปดาวอังคารของมนุษย์ นั่นคือเมื่อเดินทางไปยังดาวอังคาร หมอนรองกระดูกอาจเคลื่อนและทำให้ปวดหลังอย่างรุนแรง และเมื่อใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารได้ประมาณ 2 ปี ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีลดผลกระทบเหล่านี้ต่อนักบินอวกาศ เพื่อเป้าหมายในการตั้งถิ่นฐานในต่างดาวของมนุษย์ในอนาคตด้วย
ที่มาข้อมูล Smithsonianmag, Sciencedaily, Space
ที่มารูปภาพ NASA