เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอนจบ)
มณฑลเจียงซูมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่จะทำให้สามารถก้าวแซงกวางตุ้งได้ ไปคุยกันต่อครับ ..
ขณะเดียวกัน มณฑลเจียงซูยังมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ประกอบหลักของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับเจียงซูในการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่อย่างราบรื่น และส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีอนาคต อาทิ ไบโอเทค ยานยนต์อัจฉริยะ การบินและอวกาศเชิงพาณิชย์ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม และหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์
การดำเนินนโยบายเชิงรุกที่แม่นยำและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นไปที่การเร่งความทันสมัยของอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจดิจิตัล การปฏิรูปในเชิงลึกที่มุ่งเน้นกลไกตลาดและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมีชีวิตชีวาของภาคการผลิตและนวัตกรรม รักษาเสถียรภาพการลงทุน ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ เจียงซูยังทำลายสถิติอีกหลายส่วน อาทิ การปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 2.36 ล้านล้านหยวนซึ่งสูงที่สุดในจีน ขณะที่ยาจำนวน 13 ชนิดที่พัฒนาขึ้นในมณฑลเจียงซูได้รับการอนุมัติ และยังเป็นผู้นำในการสร้างยูนิคอร์นรายใหม่ที่มีศักยภาพของจีน
ประการที่ 3 การกำหนดเป้าหมายและผลักดันการพัฒนาในอนาคต ผมมองว่า กวางตุ้งและเจียงซูกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกัน แต่ด้วยความพร้อมทำให้เจียงซูดูจะเหนือกว่ากวางตุ้งเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น เจียงซูวางแผนที่จะบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2025 ที่มากกว่า 5% (สูงกว่าเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยโดยรวมของจีน) ขณะที่กวางตุ้งกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 5%
เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลเจียงซูยังประกาศให้เงินอุดหนุนผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่อุตสาหกรรมการผลิต และแก่ผู้บริโภคที่เข้าร่วมโครงการ “เก่าแลกใหม่” (Trade-in Program) ซึ่งกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ารถยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ เจียงซูยังวางแผนจะจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระดับมณฑลมากกว่า 110 แห่งและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ 15 แห่งในปี 2025 รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างองค์กรของธุรกิจการค้าระดับมณฑล 5 แห่งซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
เฉพาะปี 2025 มณฑลเจียงซูมีโครงการสำคัญถึง 13,000 โครงการ รวมเม็ดเงินลงทุนถึง 2.5 ล้านล้านหยวน และครอบคลุมขอบข่ายอย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างชุมชนเมือง และการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะต้องการสินเชื่อใหม่อีกกว่า 300,000 ล้านหยวน
การดำเนินนโยบายเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีการสร้างงานใหม่กว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง (คิดเป็นราว 10% ของเป้าหมายตำแหน่งงานใหม่ของจีน) ขณะที่อุปสงค์ในการเข้าร่วมโครงการ “เก่าแลกใหม่” ในเจียงซูของทั้งปี 2025 คาดว่าจะมีมูลค่าถึงราว 70,000 ล้านหยวน
ส่วนนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของสี จิ้นผิง ในโอกาสเดินทางไปเยือนมณฑลเจียงซูเมื่อต้นปี 2025 ที่ระบุว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนับเป็นพื้นฐานในการพัฒนากำลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่ พร้อมเรียกร้องให้มณฑลเจียงซูเดินหน้าการปฏิรูปเชิงลึกและการเปิดประเทศที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งเป็นเสมือนการตอกย้ำถึงความสำคัญของเจียงซูที่ก้าวขึ้นเป็น “หัวคลื่น” ของการยกระดับภาคการผลิตของจีนในยุคหน้าผ่านนโยบาย New-Quality Productive Forces และการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในอนาคต
แถมเมื่อต้นปี 2025 รัฐบาลซูโจวยังขยายการเปิดกว้างและการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีมาตรฐานสูง โดยได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในการจัดตั้งศูนย์วิจัย หรือเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของกิจการต่างชาติในวงเงินสนับสนุนสูงสุดถึง 10 ล้านหยวน รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับกิจการต่างชาติที่นำเอาผลกำไรกลับมาลงทุน
หนึ่งในนั้นก็ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park) ที่สิงคโปร์เข้าไปร่วมลงทุนเมื่อกว่า 20 ปีก่อนและนำเอาความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนานิคมไฮเทคที่ทันสมัยเข้าไปแบ่งปัน ปัจจุบันสวนอุตสาหกรรมนี้กลายเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญในมณฑลเจียงซู
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสถิติในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ก็พบว่า มณฑลเจียงซูทําผลงานได้ดีกว่ามณฑลกวางตุ้งในสามเสาหลักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ การลงทุน การบริโภค และการส่งออก
ในช่วงเวลาดังกล่าว การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของมณฑลเจียงซูขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับพลังขับเคลื่อนจากการลงทุนด้านการผลิตที่เพิ่มขึ้น 6.1% และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวถึง 8.3% ช่วยชดเชยการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง 12.5%
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าภาคการผลิตของเจียงซูเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และสามารถสานต่อโมเมนตัมการเติบโตในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนได้เป็นอย่างดี โดยในบรรดาสาขาอุตสาหกรรมสำคัญ 10 อันดับแรก จำนวนถึง 9 สาขายังคงเติบโต ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมหลัก 40 สาขาพบว่ามีราว 30 สาขาที่เติบโตเป็นบวก หรือกว่า 75% ของทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของภาคการผลิตของเจียงซู
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จีนให้ความสำคัญ รัฐบาลเจียงซูได้เปิดตัวแผนการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์นอกชายฝั่งปี 2025-2030 ที่ครอบคลุม 60 โครงการในหลายเมืองชายฝั่งทะเล อาทิ เหลียนหยุนกั่ง (Lianyungang) เหยียนเฉิง (Yancheng) และหนานทง (Nantong)
แน่นอนว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญ 2 ระยะ อันได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Carbon Peak) ภายในปี 2030 และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2060
ในทางกลับกัน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของมณฑลกวางตุ้งลดลง 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลงในอัตราถึง 15.2%
ขณะเดียวกัน มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและการค้าระหว่างประเทศของมณฑลกวางตุ้งก็เติบโต 2.5% และ 4.2% ในขณะที่การเติบโตของมณฑลเจียงซูอยู่ที่ 5.6% และ 5.0% ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกของมณฑลเจียงซูเพิ่มขึ้นถึง 9.6% แต่การนําเข้าลดลงราว 3% ท่ามกลางความท้าทายของสงครามการค้า 2.0 และอื่นๆ ที่ถาโถมเข้ามานับแต่ต้นปี 2025
ประการสำคัญ ไม่ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจของเจียงซูจะสามารถก้าวแซงกวางตุ้งได้หรือไม่ แต่ กวางตุ้งและเจียงซูก็ถือเป็น 2 มณฑลใหญ่และมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของจีน หากเปรียบเป็นประเทศ กวางตุ้งและเจียงซูก็มีจีดีพีติดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับแรกของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเกาหลีใต้และแคนาดาในปัจจุบัน
ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การพุ่งทะยานของเจียงซูสะท้อนให้เห็นถึงการปรับโครงสร้างการผลิตของจีนที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้นและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ซึ่งยืนยันความสำเร็จจากการปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เจียงซูกำลังเจริญรอยตามมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกตามหลังสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี
มองภาพออกไปในอนาคต เศรษฐกิจจีนยังมีอีกหลายมณฑลที่กำลัง “พุ่งทะยาน” ไปในทิศทางดังกล่าว เรากำลังพูดถึงนับสิบมณฑลของจีนที่จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ภูมิภาค และระหว่างประเทศในปลายทศวรรษนี้ ...