รีเซต

หญ้าทะเล ไม่ใช่แค่หญ้า แต่คือแหล่งกักคาร์บอนขั้นเทพ

หญ้าทะเล ไม่ใช่แค่หญ้า แต่คือแหล่งกักคาร์บอนขั้นเทพ
TeaC
28 พฤษภาคม 2564 ( 12:55 )
151
หญ้าทะเล ไม่ใช่แค่หญ้า แต่คือแหล่งกักคาร์บอนขั้นเทพ

 

ข่าววันนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับหญ้าทะเลว่า

 

 

เพื่อนธรณ์ทราบหรือไม่ ระบบนิเวศไหนคือ TOP5 ของการกักเก็บคาร์บอน ?

 

 


หากให้เรียงตามความเป็นสุดยอด จากมากสุดไล่ลงไป จะได้คำตอบตามนี้ ทุนดรา แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน salt marsh และป่าบก

 

 

ผมจัดลำดับโดยอ้างอิงสถาบัน smithsonian องค์กรหลักด้านการวิจัยของโลก ที่คงไม่ต้องอธิบายมาก
อ่านตรงนี้จะได้ 2 บก 3 ทะเล 

 


เห็นผลตอบง่าย การกักคาร์บอน หรือ carbon sink ไม่ได้ดูแค่ว่าดูดมาเท่าไหร่ แต่จะดูว่ากักได้นานไหม
ป่าบก ดูดเยอะ แต่เก็บไว้ในต้นไม้ เป็น above ground carbon หากต้นไม้ตาย ย่อยสลาย คาร์บอนก็กลับไปในอากาศ หรือป่าโดนทำลาย โดนเผา ทุกอย่างที่กักมากลับไปหมด

 

 

ต่างจากในทะเล ส่วนใหญ่ถูกกักไว้ใต้ดินในเลนตะกอน การย่อยสลายในเลนทะเลต่ำมากเมื่อเทียบกับพื้นดินบนบก นั่นคือ เหตุผลที่หญ้าทะเลพุ่งพรวดขึ้นมาเป็นอันดับสอง เนื่องจากคาร์บอนถูกเก็บไว้ในเลน หญ้าตายก็จมเลน

 


งานวิจัยบอกว่า หากไม่ไปยุ่งไปรบกวน คาร์บอนที่หญ้าเก็บได้จะฝังใต้เลนเป็นร้อย ๆ ปี อีกทั้ง หญ้าก็คือหญ้า โตเร็วมาก จึงดูดคาร์บอนได้เยอะ ดูดแล้วฝัง...ดูดแล้วฝัง

 

 

เน้นย้ำว่า คีย์เวิร์ดคือ เลนในทะเลกับดินบกบกไม่เหมือนกัน ยิ่งตอนนี้โลกร้อนขึ้น ทุนดราที่เคยครองอันดับหนึ่งเพราะทุกอย่างใต้ดินแข็งหมด 

 

 

เริ่มเกิดปรากฏการณ์ melting tundra พื้นเริ่มละลาย ปล่อยคาร์บอนกลับออกมา หากสู้กับโลกร้อน หญ้าทะเลจึงเป็นความหวังของมนุษย์  เทียบกับป่าบก พื้นที่เท่ากัน 1 hectare หญ้าทะเลดูดคาร์บอนมากกว่า 10-40 เท่า
คุณอาจตกใจในตัวเลข ทำไมมันเยอะจัง  เคยอ่านเจอ บางคนว่า 2 เท่า บ้างก็ 3-5 เท่า

 

 

คำตอบคือหญ้าต่างชนิดเก็บคาร์บอนไม่เท่ากัน  แหล่งหญ้าแต่ละแห่งต่างกัน แถมป่าที่นำมาเทียบต่างกัน
ตัวเลข 10-40 เท่า ผมอ้างอิงจาก smithsonian จะได้เชื่อกันง่ายหน่อย และเป็นการเทียบกับป่าทั่วไป ไม่ใช่ป่าดิบชื้น

 

อย่างไรก็ตาม ทุกแหล่งข้อมูลที่อ่าน หญ้าทะเลมากกว่าป่า นั่นคือเหตุผลว่าทำไมโลกถึงสนใจ Blue Carbon หนักหนา ยังไม่ต้องพูดถึงประโยชน์อื่น ๆ เช่น ที่อยู่พะยูน/เต่า ที่ทำมาหากินประมงพื้นบ้าน

 

หันมาดูเมืองไทย เรามีแหล่งหญ้าทะเลเกือบ 1.6 แสนไร่ มีการศึกษาบ้าง ยังไม่ถึงขั้นบอกได้ว่ากักคาร์บอนได้แค่ไหน ? 

 

แต่ถ้าอิงตัวเลขสมิทธโซเนี่ยน ก็จะได้ตัวเลขเท่าป่าบก 1.6-6.4 ล้านไร่  หญ้าทะเลที่ไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญพวกนี้แหละ คือความมั่นคงทางคาร์บอนของเมืองไทย โดยเฉพาะในวันที่ตลาดคาร์บอนในยุโรป ขายกันอยู่ในราคาตันละ 52.6 ยูโร (24 พค.)

 

เขียนมาทั้งหมดนี้ อยากบอก 2 เรื่องครับ

 

อันดับแรก คือหญ้าทะเลสำคัญกว่าที่คิด จะดูแล ป้องกัน หรือใดๆ ก็ต้องเข้าใจคุณค่าที่แท้จริง

อันดับสอง เราควรต้องเร่งการศึกษาวิจัยที่จะเชื่อมหญ้าทะเลกับการกักคาร์บอน เพื่อประเมินว่าแหล่งหญ้าไหน กักได้เท่าใด

 

 

เรานิยมนำงบวิจัยไปทำอะไรที่ขายได้ วันนี้ผมกำลังบอกว่า คาร์บอนขายได้ และขายได้แพงด้วย  หลายคนบอกว่าอาจถึง 60-70 ยูโรปลายปีนี้ และมีแต่ขึ้น แนวคิดเดิม ๆ วิจัย-สร้างโรงงานต้นแบบ-สร้างจริง-ผลิตขาย-จ้างงานอย่างนั้นก็ทำไปเถิด แต่อยากให้ลองคิดเพิ่ม วิจัย-ดูแล-รักษา-เกิดมูลค่า-คนแถวนั้นอยู่ยั่งยืน ของที่มีอยู่แล้ว ขอแค่ดูแล สร้างมูลค่ามหาศาล และเป็นของที่ทั้งโลกกำลังสนใจ

 

 

นั่นคือเรื่องใหม่ นั่นคือคุณค่าของธรรมชาติในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แห่งอนาคต เพราะอนาคตมาถึงแล้ว  เป็นปัจจุบันแล้ว ทั้งโลกรู้แล้ว และกำลังทำกันอยู่แล้ว อย่าตกขบวนหญ้าทะเล และยิ่งอย่าทำลายด้วยความคิดตื้น ๆ ว่ามันก็แค่หญ้า

 

 

เพราะถ้ามันเป็นแค่หญ้า สถาบันเป้ง ๆ ในโลกคงไม่ทุ่มเทการวิจัย สำนักข่าวเศรษฐกิจอย่าง economist คงไม่นำเรื่องพวกนี้มาลง เพราะวันนี้ ในสายตาชาวโลก หญ้าทะเลมันไม่ใช่แค่หญ้า

 

เธอคือเครื่องมือทางประสิทธิภาพสูงสุดของธรรมชาติที่จะต่อสู้กับโลกร้อน


อย่าทำลายอาวุธแห่งมหาสมุทรที่จะช่วยพวกเรา


จึงนำเรื่องนี้มาบอกเพื่อนธรณ์ครับ

 



 

ภาพ - ตรัง เห็นปื้นสีดำๆ น้ำตาลๆ มาจนถึงชายฝั่ง ทั้งหมดนั้นคือหญ้าทะเลครับ

อ้างอิง
https://www.smithsonianmag.com/.../underwater-meadows.../

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง