แอร์บัสทดสอบปล่อยโดรนบินโจมตีออกจากเครื่องบินขนส่งกลางอากาศ
ปัจจุบันการใช้โดรนบินด้านการทหารได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบและขนาดต่าง ๆ ล่าสุดบริษัท แอร์บัส (Airbus) ผู้นำด้านเทคโนโลยีการบินอากาศยานได้ทำการทดสอบปล่อยโดรนบินโจมตีจากเครื่องบินขนส่งด้านการทหารกลางอากาศ
การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบเบื้องต้นโดยใช้โดรนบินสาธิตล่อเป้า Remote Carrier ที่ได้รับการดัดแปลงประสิทธิภาพและติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล เมื่อปล่อยตัวออกจากเครื่องบินเครื่องยนต์ไอพ่นของโดรนจะเริ่มทำงานและเริ่มบินทดสอบ โดยใช้การควบคุมจากนักบินที่เป็นมนุษย์ภาคพื้นดิน
การทดสอบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Future Combat Air System (FCAS) ความร่วมมือในกลุ่มประเทศยุโรป โดยรวมการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 ทำงานร่วมกับโดรนบินขับเคลื่อนอัตโนมัติควบคุมระยะไกลจำนวนหลายลำเพื่อเพิ่มความสับสนให้กับระบบป้องกันของฝ่ายศัตรู
ภารกิจหลักของโดรนบินในลักษณะดังกล่าวนอกจากสร้างสับสนให้กับระบบป้องกันยังสามารถติดตั้งอาวุธโจมตีหลายรูปแบบ ภารกิจลาดตระเวน ภารกิจหน่วยสืบราชการลับ และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยภารกิจทั้งหมดไม่จำเป็นต้องส่งนักบินที่เป็นมนุษย์เข้าไปเหนือน่านฟ้าฝ่ายศัตรูเพื่อลดการสูญเสียชีวิตนักบิน
โครงการ Future Combat Air System (FCAS) ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีเป้าหมายการพัฒนาให้สามารถปล่อยโดรนบินโจมตีขนาดเล็กได้มากถึง 50 ลำ จากเครื่องบินขนส่งกลางอากาศ แต่หากเป็นการปล่อยโดรนบินโจมตีขนาดใหญ่อาจลดจำนวนลงเหลือ 12 ตัว
นอกจากกลุ่มประเทศยุโรปที่พัฒนาเทคโนโลยีโดรนบินโจมตีในลักษณะดังกล่าว กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่าระบบ Rapid Dragon โดยใช้การทำงานร่วมกันระหว่างโดรนบินโจมตีและเครื่องบินขนส่งทางการทหาร C-17 และ C-130 Hercules
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ Airbus