งานวิจัยใหม่ชี้ 'บาริซิทินิบ-เรมเดซิเวียร์' ใช้ร่วมช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ฟื้นตัวไว
วอชิงตัน, 12 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) วารสารการแพทยนิวอิงแลนด์ (NEJM) รายงานผลจากการทดลองทางคลินิกที่ชี้ว่า การใช้ยาบาริซิทินิบ (Baricitinib) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบ ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส ช่วยลดระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
การศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ
นักวิจัยได้ทำการทดลองแบบปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง (Double-blind) สุ่ม (Randomized) และกำหนดให้มีกลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาหลอก (Placebo-controlled trial) เพื่อประเมินผลของการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน หรือยาหลอก ในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นผู้ใหญ่และเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,033 รายที่เข้าร่วมการทดลองนี้ โดยมี 515 รายที่ได้รับการรักษาด้วยยาทั้งสองตัว ส่วนอีก 518 รายเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก
ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาบาริซิทินิบกับยาเรมเดซิเวียร์ร่วมกัน ช่วยลดเวลาเฉลี่ยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลจาก 8 วันเหลือ 7 วัน
ผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนในปริมาณสูงหรือผู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากเวลาเฉลี่ยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ลดลงจาก 18 วันเหลือเพียง 10 วัน
นอกจากนี้ อาการของผู้เข้าร่วมการทดลองในวันที่ 15 ยังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งผู้ได้รับยาสองตัวร่วมยังแสดงให้เห็นว่าได้รับผลข้างเคียงรุนแรงที่น้อยกว่าเล็กน้อย
ผลการวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่ายาบาริซิทินิบและยาเรมเดซิเวียร์ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางรายและควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาสองตัวนี้ร่วมกันต่อไป