รีเซต

All of Us Are Geek : ความน่ากลัวของ “การเป็น Geek” ในสังคมดิจิทัล

All of Us Are Geek : ความน่ากลัวของ “การเป็น Geek” ในสังคมดิจิทัล
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2567 ( 12:52 )
30

ในปัจจุบัน เรามักจะชื่นชมบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูง อย่าง อีลอน มัสค์ (Elon Musk) เจ้าของเทสลา (Tesla) หรือมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค (Mark Zuckerberg) เจ้าของเมตา (Meta) ผู้จุดประกายความทันสมัยให้กับโลกใบนี้มากมาย 


ตัวอย่างที่สำคัญ นั่นคือ การที่ซัคเคอร์เบิร์คผุดไอเดีย “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” ที่สุดท้ายแล้วถึงจะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร แต่สิ่งนี้ ได้ทำให้เกิดการขบคิดไปถึง “โลกความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality)” ประการหนึ่ง


หรืออย่างล่าสุด กรณี “ChatGPT” ที่เป็น ปัญญาประดิษฐ (AI) อัจฉริยะแบบฉบับ ‘ถามอะไรตอบได้ทุกอย่าง’ บริษัทที่พัฒนานั่นคือ “OpenAI” ที่มัสค์ถือหุ้นเช่นกัน


อาจกล่าวได้ว่า พวกเขานั้น เป็นหนึ่งในคนที่ประเภทที่เรียกว่า "Geek" ที่มีความคิด "นำสมัย (Cutting-edge)" และพร้อมจะนำเสนอเรื่อง "สุดแสนจะเทพ" ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงได้เสมอ 


แน่นอนว่า คนประเภทนี้ เป็นคนในแบบที่โลกต้องการมากในปัจจุบัน แต่อีกนัยหนึ่ง การเป็น Geek ก็มี "ความน่ากลัว" ในตนเองไม่น้อย มากขนาดที่สังคมต้องจับตามองเลยทีเดียว


ดังนั้น จึงนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจ ที่ว่า เหตุใด Geek ถึงมีความน่ากลัวต่อสังคมมากมายถึงเพียงนี้?


🟠 Geek คือคนแบบใด ทำไมถึงต้องสนใจ


ตราบจนปัจจุบันนี้ บุคคลประเภท Geek ยังมีการถกเถียงกันว่า แท้จริงแล้วมีบุคลิก ลักษณะนิสัย วิธีคิด หรือวิถีชีวิตแบบใดเป็นที่ตั้ง  เพราะมีทั้งนิยามที่ว่า "พวกเฉิ่ม ๆ เป็นขบถสังคม" "พวกรู้เยอะแต่มีนิสัยมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" หรือ "พวกมีความคิดประหลาดๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน" แต่นิยามที่เหมาะกับปัจจุบันที่สุด คือ "พวกคลั่งใคล้หรือหมกมุ่นในบางสิ่งจนเก่งหรือชำนาญ" 


นิยามดังกล่าวนี้มีความใกล้เคียงกับบุคคลประเภท "Nerd" อย่างมาก บางครั้ง อาจจะสามารถใช้ "แทนกันได้” เสียด้วยซ้ำไป 


แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างบุคคลสองประเภทนี้ นั่นคือ ในขณะที่ Nerd มีความรู้แต่เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เข้าสังคม เป็นพวกคมในฝัก แต่ Geek กลับเป็นพวก “อวดความรู้” พร้อมพ่นสิ่งที่ [ตนเองคิดว่า] ผู้อื่นไม่มีทางรู้เท่าตน และโดยส่วนมาก มักเป็นเรื่อง "กระแสรอง (Substream)" ที่ปุถุชนทั่ว ๆ ไป ตามไม่ทัน 


หรือหากเทียบกับ "การทดสอบแบบ MBTI" ที่กำลังได้รับความนิยม ณ ขณะนี้ เล่นกันตอนนี้ พวก Geek จะมีลักษณะคล้ายกับ "INTJ (Introverted, Intuitive, Thinking, Judging)" ขณะที่พวก Nerd จะคล้ายกับ “INTP (Introverted, Intuitive, Thinking, Perceiving)”


ณ ปัจจุบัน เรื่องกระรองแสๆ ที่ปุถุชนทั่วไปตามไม่ทัน นั่นคือ เรื่องเกี่ยวกับ "เทคโนโลยี" วิทยาการที่ก้าวหน้า ที่อุดมไปด้วยความแฟนตาซี ตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความล้ำสมัยมาก ๆ และส่วนมาก พวก Geek มักจะคิดว่า "โลกที่เป็นอยู่ (As it is)" นั้น ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการ "ในฝัน" อย่างที่พวกเขา “อยากจะให้เป็น (Ought to be)” ได้โดยง่าย


🟠 ดังนั้น พวก Geek จึงมี 3 คุณสมบัติสำคัญ ดังนี้ 


ความเป็นอิสระจากผู้คนแห่งโลกความเป็นจริงที่โหดร้ายเสื่อมทราม (Virtualization) 


🟠 การหนีไปหาโลกอื่น [ที่ควรจะเป็น] (Escapism) 


ความต่อต้านเรื่องทางโลก [ที่คิดไปเรียบร้อยแล้วว่าเสื่อมทราม] (Anti-sensualism) [จากผู้คนที่ไม่อาจจะเข้าใจพวก Geek และ ไม่สามารถสนองตอบความเป็น Geek ดังกล่าวได้] 


แต่ดูเหมือนว่า นิยามและคุณสมบัติของ Geek ไม่อาจเข้ากันได้กับ "การสรรเสริญเยินยอ " ที่บุคคลประเภทนี้ได้รับอยู่ ณ ตอนนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด "โลกความเป็นจริง" ของเราได้มีความเป็นไปในบางสิ่งที่ทำให้ มุมมองต่อพวก Geek นั้น "พลิกขั้วสลับด้าน (Paradigm Shift)" มากขึ้น และเป็นการ "การเอื้อประโยชน์" ต่อ Geek ในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วย


กระนั้น คำถามที่ตามมา นั่นคือ โลกของเราเปลี่ยนไปเอื้อการดำรงอยู่ของ Geek อย่างไร?


🟠 เมื่อโลกความเป็นจริงมีปัญหา Geek เลยเกิดขึ้นมาเป็นโขยง


เมื่อพิจารณาช่วงเวลากว่าครึ่งคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ มากมาย ได้อุบัติขึ้น และทำให้โลกเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะ "โลกทุนนิยม (Capitalism)" ในปัจจุบัน ที่มีลักษณะแบบ "เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)" ที่รัฐปล่อยให้ตลาดกำหนดเศรษฐกิจ ความจนหรือความรวยขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล ไม่มีสวัสดิการหรือการอุดหนุน หากล้มละลายขึ้นมานัั่นเป็นเรื่องการไร้ความสามารถของปัจเจกบุคคล 


ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ บย็อง ช็อล ฮัน (Byung Chul Han) นักปรัชญาดาวโรจน์เชื้อชาติเกาหลีใต้ ได้เสนอว่า ประเด็นของความเป็น Geek ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากปัญหาเชิงปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่โลกปัจจุบันนั้นได้ "บีบบังคับกลาย ๆ"  ให้เรา “ทุกคน” เป็น Geek โดยที่เราไม่รู้ตัว 


โดยฮันเรียกผลผลิตของการบีบบังคับดังกล่าวว่า "ซับเจกต์-ความสำเร็จ (Achievement-subject)"


ซับเจกต์-ความสำเร็จ ทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ นั่นคือ คนเราต้อง "ทำตัวให้โดดเด่น" หรือเรียกให้วัยรุ่น อาจจะเรียกว่า "หิวแสง" ตลอดเวลา 


ให้คิดตามว่า เมื่อเราไปสมัครงาน เราจำเป็นต้องทำการ "ยกย่องเชิดชูตนเอง (Self-flattery)" หรือทำการ "โชว์ของดีที่มีในตัวเองทั้งหมด (Utter Self-illumination)" เพื่อความโดดเด่นเหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ และทำให้บริษัทจ้างเรา ในฐานะ “ตัวเลือกในตลาดแรงงาน” ไปทำงานในที่สุด 


หรือในกรณีนี้ นั่นคือ การเกิดขึ้นของรายการประเภท "Survival" ถือว่าเข้าข่ายประการหนึ่ง นั่นเพราะ การเหลือรอดเป็นคนสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตะโกนหาสรรหาได้ในชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยออกมาให้หมด ให้สุดแรงเกิด บีบเค้น รีดเร้นศักยภาพที่มีในตนออกมาให้คณะกรรมการได้เห็นเป็นประจักษ์


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นั่นคือ รายการประเภทเทคโนโลยีและธุรกิจ ที่มีชื่อว่า "Shark Tank" หากพิจารณาโดยผิวเผิน อาจเหมือน “การนำเสนอ” สินค้าหรือธุรกิจ เพื่อแสวงหาเงินทุน แต่หากพิจารณาเชิงลึก จะพบว่า การจะให้บรรดาคณะกรรมการควักกระเป๋าให้ มิพักต้องแสดง “ความเทพ” ความนำเทรนด์ ล้ำสมัย แตกต่างสุดขั้ว แหวกแนวสุดขีด เช่นกัน


และถึงแม้ว่าจะได้ในสิ่งที่หวังและฝันใฝ่ แต่ขั้นตอนต่อไปนั้น ย่อมบังเกิดสิ่งที่กังวลตามมา นั่นคือ การแข่งขันภายใต้บริบทที่ว่า วงการนี้มีแต่ Geek ทั้งนั้น 


ดังนั้น "การรีดเค้นศักยภาพในตัวเอง (Self-exploitation)" และ "การทำตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ (Self-optimization)" จึงเป็นเงาตามตัวที่คนต้องกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


โดยเฉพาะ ยิ่งเราอยากมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรืออยากเรียกเงินเดือนให้สูง ๆ มากเท่าไร ก็จะยิ่งต้อง "Show-off" สิ่งที่มีในตนเองมากขึ้นเป็นเท่าทวี 


ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้อง "เป็นเลิศด้านอะไรสักอย่าง" เพื่อรักษาสถานะของตนเอง เพราะหากพลั้งพลาดขึ้นมาเมื่อใด โอกาสที่จะ "ตกกระป๋อง" ย่อมมีสูงตามไปด้วย


เมื่อเป็นเช่นนี้ การค้นหาว่าตนนั้น "เป็นเลิศในด้านใด" จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การทำตัวเรื่อยเปื่อย อิลุ่ยฉุยแฉก หรือแม้กระทั่งการเป็น "คนธรรมดา" ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของซับเจกต์-ความสำเร็จ 


หรือกล่าวอีกแบบก็คือ เรานั้น "ไม่อาจจะเป็นคนธรรมดาได้" 


สิ่งที่ตามมา นั่นคือ การที่เราจำเป็นต้อง "หมกมุ่น" กับสิ่งที่ "เราคิดว่าเราชอบและทำได้ดี" ด้วยหวังว่าวันหนึ่งเราจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ เก่งกาจในด้านนี้จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และจะนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตในอนาคต ถึงการเติบโตในหน้าที่การงาน ชื่อเสียง เกียรติยศ รวมถึงรายได้ และเงินโบนัสอื่น ๆ 


เมื่อพิจารณาถึงซับเจกต์-ความสำเร็จ ที่เราทั้งหลายกำลังประสบกันอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามตามมา นั่นคือ เราอาจจะกล่าวอย่างเต็มปากได้หรือไม่ว่า ณ ตอนนี้ "พวกเราทั้งผอง" นั้นเป็น Geek ไม่ต่างกัน?


🟠 Geek ก็คือเรา เพราะเราอยากเป็น Geek


"ผมมองไม่เห็นอีกต่อไปแล้วว่ามีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างพวก Geek กับคนธรรมดาทั่วไป"


ข้อคิดเห็นของ แพตตอน ออสวัลด์ (Patton Oswald) ดาวตลกชาวอเมริกัน ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้ ความเป็น Geek ได้รับการทำให้เป็นเรื่อง "ทั่วไป (Generalization)" เสียแล้ว เพราะ ตัวเรา (Self) นั้น ไม่ได้ "เลือกที่จะทำตัวได้อย่างเสรี" หากแต่เป็นการ "เลือกที่จะทำตัวตามระบบโลก" ซึ่งก็คือการเป็น Geek นั่นเอง 


"การทำตนให้โดดเด่น" ของเรา ไม่ได้มาจากการที่เราค้นพบด้วยตนเองว่าเราต้องประพฤติตนเช่นนี้ หากแต่ระบบระเบียบ "ต้องการ" ให้เราค้นหาตนเองให้พบ อาจจะเรียกว่าเป็นการ "บังคับให้เลือกได้เสรี (Force to be free)" ย่อมได้


โดยเฉพาะ การที่เราให้ความสำคัญกับเรื่อง เทคโนโลยี ซึ่งเป็นวงการที่สะท้อนความเป็นพวก Geek มากที่สุด ปัจจุบัน วงการเทคโนโลยีต้องการผู้ที่ "เป็นเลิศ" เข้ามาพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก ด้วยอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด 


ตัวอย่างที่สำคัญ นั่นคือ ตำแหน่ง Software Engineering, UX/UI Designer, Front-end /Back-end Developer, Data Analyst Data Scientist หรือ AI Developer อาชีพพวกนี้นอกจากจะมีระดับรายได้เริ่มต้นในอัตราที่สูงกว่าอาชีพอื่น ๆ  ยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อชีวิตของปัจเจกทุกหมู่เหล่า 


เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินชีวิตของคนเราในทุกมิติ แทบจะ “ขาดเทคโนโลยีไม่ได้” 


หรือแม้กระทั่ง "วงการเกม (Gaming)" ที่แต่ก่อนคนมองเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" แต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ประชากรทั่วโลกเล่นเกมกันมากถึงร้อยละ 40 ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ Game Developer, Game Designer, หรือแม้กระทั่ง Gamer ที่ตอนนี้สามารถเล่นเป็นอาชีพเพื่อทำเงินได้ ต่างได้รับการย่กย่องไปด้วย 


เช่นนี้ จึงเกิดเป็นมุมมองที่ว่า เราเป็นทั้ง "ผู้กระทำการและเหยื่อในตัวเอง ณ เวลาเดียวกัน (perpetrator and victim at one and the same time)" 


นั่นเพราะ "เราต่างชื่นชมบุคคลเหล่านี้ และอยากเป็นให้ได้แบบเขา" จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใด อีลอน มัสค์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ตลอดจนความคิด สิ่งประดิษฐ์ และสิ่งที่สรรสร้างด้วยน้ำมือของพวกเขา จึงได้รับความนิยมถล่มทลายมากมายถึงเพียงนี้ 


เพราะในส่วนลึกของจิตใจ เราก็หวังว่าสักวัน จะไปยืนอยู่บน “จุดที่พวกเขายืน” ได้สักครั้งในชีวิต และหากไปถึงได้ ย่อมหมายความว่า เรากลับมาโชว์ออฟ “ความเทพ ให้คนยกย่อง” อีกทอดหนึ่ง เป็นวัฏจักรต่อไปเรื่อย ๆ


🟠 ความน่ากลัวของการเป็น Geek


จากที่กล่าวมาทั้งหมด นับว่าพวก Geek นั้นมี "ความน่ากลัว" อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องสเกลที่เกิดขึ้นในระดับคนทั้งโลก (The Whole) โดยที่เราไม่อาจเกิดการตระหนักรู้ในตน และที่สำคัญไปกว่านั้น ความเป็น Geek ยังเป็นผลให้เกิด "สังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรง (The Fatigue Society)" อีกด้วย 


ประเด็นนี้ สารคดี Müdigkeitsgesellschaft ของ บย็อง ช็อล ฮัน ได้ชี้ชัดถึงสังคมในลักษณะดังกล่าวไว้อย่างแจ่มชัด ความว่า


"เมื่อคุณใช้บริการรถไฟใต้ดิน คุณจะเข้าใจว่าสังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรงคืออะไร … ตู้โดยสารเหมือนศูนย์รวมของพวกไม่ได้หลับไม่ได้นอน [จากการทำงาน] ... เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้คนต่างระทมทุกข์ต่อความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส … สภาวะดังกล่าวกำลังกัดกินไปทั่วทั้งโลก"


คำกล่าวของฮันแสดงให้เห็นถึง "ผลร้ายจากการเป็น Geek" ได้ดียิ่ง ทันทีที่เรากระทำการให้เกินความสามารถเพื่อขึ้นไปสู่ "ยอดพีระมิด" ความเหนื่อยล้าย่อมตามมาเป็นธรรมดา โดยเฉพาะ หากไปไม่ถึงฝัน ก็ยิ่งเหนื่อยล้าและสูญสิ้นกำลังใจอย่างมาก 


ดังที่ ฮันเสนอต่อว่า สังคมดังกล่าวนำมาซึ่ง "ภาวะหมดไฟ (Burnout)" หรือก็คือ ภาวะที่เราไม่สามารถจัดการกับความเครียดและความกดดันต่างๆ ได้ เราจึงเททุกอย่าง ไม่อยากทำอะไรไปเสียดื้อๆ โดยฮันระบุว่า


"คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ทรมานกับภาวะหมดไฟ กว่าร้อยชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับสิ่งดังกล่าวในแต่ละปี … ผู้คนไม่สามารถจัดการกับความกดดัน [จากการทำงาน] ได้ แม้ไม่มีใครมาดุด่า แต่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเองทำได้ไม่ดีพอ… สังคมปัจุบันจึงเป็นสังคมแห่ง ‘เราทำได้ทุกอย่าง (Can)’ มากกว่า ‘เราต้องทำทุกอย่าง (Should)’ "


คำว่า เราทำได้ทุกอย่าง ในตัวมันเอง ไม่มีนัยของการบังคับให้ทำ หากแต่เป็นการบังคับกลาย ๆ [โดยเสรีนิยมใหม่ ดังที่กล่าวไป] เพราะหากไม่ทำ หรือทำไม่ได้มาก ๆ เข้า เราก็ซวย เป็น "ไอ้ขี้แพ้ (Loser)" ในระบบ ไปโดยปริยาย 


ซึ่งส่งผลกระทบถึง "การพัฒนาตนเอง (Self-improvement)" ที่ "ฝังหัว (Embedded)" เป็นแรงขับให้เราตลอดเวลา แม้ยามเวลา "ส่วนตัว (Private)" ดังที่ ปัก ชาน อุค (Park Chan Wook) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวเกาหลีใต้ ที่ได้ระบุถึงปัญหาข้อนี้ว่า


"การที่ผมจะทำภาพยนตร์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้หัวผมหนักอึ้งไปด้วยการคิดถึงสิ่งดังกล่าว … เวลาว่างก็เหมือนเวลางานทีเดียวครับ"


🟠 เราจะทำอย่างไรกันดี


เมื่อมาถึงตรงนี้ อาจเล็งเห็นได้ว่า การเป็นพวก Geek ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ และอาจจะทำให้คิดได้เป็น "ปัญหาใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ที่ใช่ว่าจะขจัดออกไปได้โดยง่าย ซึ่งหลายฝ่ายก็ได้คิดค้นสารพัดวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 


อาทิ กลุ่มบุคคลที่มักจะบอกประมาณว่า "คุณหนีมันไปไม่พ้นหรอก … เราทำได้แค่ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป" พวกที่เห็นว่าสิ่งนี้มัน "เกินเยียวยา (Dysfunction)" ไปแล้ว เราต้องการ "รื้อทำลาย" โลกที่เป็นอยู่ เพื่อที่จะหา "ระบบใหม่หรือโลกใหม่" ที่เอื้อแก่การดำรงอยู่ของเราให้มากยิ่งขึ้น หรือพวกที่พูดถึง "การช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้" จากภาครัฐ เพื่อให้การต่อสู้ฝ่าฟันในระบบของปัจเจกได้รับ "ความประสาทรับประทาน" น้อยลง


อย่างไรเสีย ไม่ว่าเราจะคิดเห็นไปประการใด แต่ ณ ขณะนี้ เราก็ยังเผชิญหน้ากับ ความเป็น Geek อยู่วันยังค่ำ อย่างน้อยที่สุด หากเรารับรู้กันและกันถึงความยากลำบาก (Empathy) ในฐานะ Geek เหมือน ๆ กันได้ เช่นนั้น อาจจะเพียงพอสำหรับการ "บรรเทาทุกข์" ของกันและกันได้เปราะหนึ่ง


แต่พึงระลึกเสมอว่า ผู้ที่อยู่ข้าง ๆ ก็คือ "คู่แข่ง" ที่เราต้องประหัตประหารเช่นกัน!


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง

 

หนังสือ The Burnout Society

หนังสือ Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies

หนังสือ The Expulsion of the Other: Society, Perception and Communication Today

สารคดี Müdigkeitsgesellschaft: https://www.youtube.com/watch?v=WN3aMCSip1A 

https://thecritic.co.uk/the-unstoppable-rise-of-geek-culture/

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง