กาแฟสกัดเย็นพลังเลเซอร์ ทางเลือกใหม่การทำกาแฟจากเยอรมนี
นักวิจัยจากมมหาวิทยาลัยดุยส์บูร์ก-เอสเซิน (University of Duisburg-Essen: UDE) ได้คิดค้นการสกัดเย็นที่ใช้พลังงานจากแสงความเข้มข้นสูง หรือเลเซอร์ (Laser) ในกระบวนการสกัดเย็นซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการสกัดเย็นให้เหลือเพียงไม่กี่นาที และยังเพิ่มคุณภาพการสกัดได้อีกด้วย
การสกัดกาแฟจากเมล็ดคั่วบดให้เป็นผงสำหรับชงหรือน้ำกาแฟที่เราดื่มได้นั้นมีหลากหลายวิธีมาก แต่การสกัดเย็น (Cold-brew) เป็นหนึ่งในวิธีที่คอกาแฟสายรักกลิ่นและรสชาติชื่นชอบมากที่สุด เพราะการสกัดเย็นจะคงสภาพกลิ่นเมล็ดกาแฟและรสชาติที่แท้จริงของเมล็ดกาแฟเอาไว้ แต่ข้อเสียเปรียบที่สำคัญคือการใช้ระยะเวลาสกัดตั้งแต่ 8 - 24 ชั่วโมง เพื่อให้กาแฟสกัดตัวออกมาจากเมล็ดกาแฟที่คั่วบดไว้ ดังนั้นการสกัดเย็นจึงเป็นวิธีที่ช้าและมีต้นทุนสูง
กลุ่มวิจัยสาขาเคมีจากยูดีอี (UDE) ได้นำเทคนิคการสังเคราะห์และการเปลี่ยนแปลงสภาพสารแขวนลอยด้วยเลเซอร์ (Laser Synthesis and Processing of Colloids: LSPC) กระบวนการที่ใช้แสงเลเซอร์เปลี่ยนแปลงสภาพหรือทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารแขวนลอย (Colloid) มาประยุกต์ใช้กับการทำกาแฟด้วยการสกัดเย็น เพราะในกระบวนการสกัดเย็น ผงกาแฟจะต้องอยู่ในน้ำเย็นซึ่งทำให้มีสภาพเป็นสารแขวนลอยแบบหนึ่ง นักวิจัยจึงใช้เทคนิค LSPC เพื่อเร่งเวลาในการสกัดเย็น
นักวิจัยเลือกสร้างเลเซอร์ด้วยสารผสมที่มีชื่อว่า Nd:YAG (Neodymium-doped Yttrium Aluminum Garnet) ที่มีส่วนประกอบจากแร่อะลูมิเนียมและโกเมน แสงที่ได้จะมีคลื่นความยาวอยู่ที่ 532 นาโนเมตร เป็นแสงเลเซอร์ที่อยู่ในย่านแสงสีเขียวแล้วยิงเข้าไปในโหลกาแฟที่อยู่ในน้ำเย็นด้วยความเข้มข้น 125 พิโคจูล (Picojoule) (น้อยกว่าพลังงานที่ทำให้หลอดไฟแอลอีดีสว่างได้ 1 วินาที ถึง 1 ล้านล้านเท่า) เป็นเวลา 10 พิโควินาที (เร็วกว่าการกะพริบตาของมนุษย์ถึง 1,000 ล้านเท่า) ในแต่ละครั้ง และยิงซ้ำเป็นจังหวะต่อเนื่อง 80,000 ครั้งต่อวินาที เป็นเวลาทั้งหมด 3 นาที เมื่อคำนวณพลังงานที่ใส่ลงไปทั้งหมดนั้นพบว่า น้ำสกัดเย็นมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 5 องศาเซลเซียส เท่านั้น ทำให้กาแฟสกัดเย็นไม่เสียความเย็นที่เป็นหัวใจการสกัด และได้กาแฟสกัดเย็นที่พร้อมเสิร์ฟ
ในงานวิจัยครั้งนี้ยังได้เปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีน ค่าความเป็นกรด (acid - pH) เปรียบเทียบกับกาแฟสกัดเย็นและกาแฟชงร้อนแบบปกติ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากาแฟสกัดเย็นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์เรื่องกลิ่นและรสชาติ (Taste Note) รวมถึงการพิสูจน์ความปลอดภัยในการนำมาใช้เป็นกระบวนการผลิตเพื่อบริโภคเชิงอุตสาหกรรมนั้นยังคงอยู่ระหว่างการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Nature