ส่งท้ายปี 2564 ปรากฏการณ์ท้องฟ้าน่าติดตาม มีอะไรน่าสนใจบ้าง? คืนนี้ชม ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี
ข่าววันนี้ ส่งท้ายปี 2564 ต้องไม่พลาดชม "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" ตลอดเดือนธันวาคม โดย เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ไทม์ไลน์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจบนท้องฟ้าให้ติดตาม มีอะไรน่าสนใจมาเช็คไว้เลย
3 ธันวาคม 2564
ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 05:28 น. จนถึงรุ่งเช้า
7 ธันวาคม 2564
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ดาวศุกร์ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 20:00 น.
9 ธันวาคม 2564
ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ถึงเวลาประมาณ 22:30 น.
คืน 13 - รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 64
ฝนดาวตกเจมินิดส์ อัตราการตกประมาณ 150 ดวง/ชั่วโมง สังเกตได้ชัดเจนที่สุดหลังเวลา 02:00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. จนถึงรุ่งเช้า ศูนย์กลางกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่
ทำความรู้จักกับ "ฝนดาวตกเจมินิดส์"
“ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids) เป็นฝนดาวตกชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้เป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง
ฝนดาวตกชุดนี้จะปรากฏให้เห็นประมาณวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี มีศูนย์กลางกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ คาดการณ์ว่าช่วงที่มีอัตราดาวตกสูงสุดประมาณวันที่ 13-14 ธันวาคม จะมีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง ฝนดาวตกเจมินิดส์นับเป็นหนึ่งในฝนดาวตกชุดที่น่าดูที่สุด เนื่องจากมีอัตราเร็วค่อนข้างช้า สังเกตได้ง่าย และยังมีอัตราดาวตกค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี
ดาวตกในฝนดาวตกเจมินิดส์มีอัตราเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/วินาที ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 58 กิโลเมตร/วินาที หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 71 กิโลเมตร/วินาที
ฝนดาวตกเจมินิดส์ ปี 2564
คาดการณ์ว่าฝนดาวตกเจมินิดส์ จะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่ตีสองจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 อัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ในคืนดังกล่าวจะมีแสงรบกวนจากดวงจันทร์ข้างขึ้น 10 ค่ำ ในช่วงแรกของปรากฏการณ์ แนะนำให้ชมหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้าแล้ว เวลาประมาณ 02:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
สถานที่ที่เหมาะสม
ควรเป็นสถานที่ที่มีแสงไฟรบกวนน้อย ห่างไกลจากเมืองหรือแสงไฟตามถนน อุปกรณ์ที่ควรเตรียมเพื่อนอนดูฝนดาวตกประกอบด้วยเก้าอี้เอน เสื่อ ผ้าห่ม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ให้ความอบอุ่น หากนอนดูดาวตกเพียงคนเดียว เวลานอนรอชมให้หันเท้าไปทางทิศใต้แล้วพยายามมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้าง ไม่ควรมองเพ่งไปที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า เมื่อเริ่มนอนชมท้องฟ้าในความมืดประมาณ 30 นาทีแล้ว ดวงตาของเราจะปรับให้เข้ากับความมืด จากนั้นก็อดใจรอจนกว่าคุณจะเริ่มเห็นดาวตก ย้ำว่าควรมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้างเข้าไว้ ดาวตกบางลูกอาจปรากฏกลางมุมมองของคุณ หรือส่วนหนึ่งอาจปรากฏบริเวณใกล้ขอบมุมมองสายตา
19 ธันวาคม 2564
ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน
เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า "ไมโครฟูลมูน" ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,924 กิโลเมตร ในคืนนั้น จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กสุดในรอบปี เริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า
21 ธันวาคม 2564
วันเหมายัน เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูร้อน
และห้ามพลาดชมดาวพอลลักซ์เคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20:10 น. จนถึงรุ่งเช้า
'วันเหมายัน' คือวันอะไร?
28 ธันวาคม 2564
ดาวอังคารเคียงดาวแอนทาเรส เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 05:10 น. จนถึงรุ่งเช้า
29 ธันวาคม 2564
ดาวพุธเคียงดาวศุกร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเวลาประมาณ 18:50 น.
อย่างไรก็ตาม หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆ สามารถรับชมด้วยตาเปล่าได้ทุกปรากฏการณ์ ขอให้มีความสุขกับการชมดาวกันนะชาวทรูไอดี