‘Pillar of Creation’ ถ่ายใหม่ด้วยกล้อง James Webb คมชัดสวยสะบัดกว่าเดิม
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะทุกภาพถ่ายที่ส่งกลับมายังภาคพื้นดินต่างก็เผยให้เห็นรายละเอียดหรือมิติภาพที่ต่างจากภาพถ่ายที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์รุ่นพี่ในตำนานอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และล่าสุด ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ก็สร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง กับภาพของเสาแห่งการก่อกำเนิด (Pillar of Creation) ที่สวยงามและมีรายละเอียดมากจนต้องตะลึง
ภาพเสาแห่งการก่อกำเนิด (Pillar of Creation) เป็นภาพถ่ายที่แสดงถึงการรวมตัวของฝุ่นและแก๊สจนก่อรูปร่างคล้ายเสาและคล้ายไข่ ที่ถูกเปรียบเปรยเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดดวงดาว (และเป็นที่มาของชื่อภาพ) แต่ด้วยเทคนิคและประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮ้บเบิล ทำให้เราเห็นเพียงแค่ลักษณะของเสาและการรวมตัวเท่านั้น ต่างจากภาพที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ ที่บ่งชี้ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ใช้เทคนิคการรับภาพด้วยกล้องที่รับแสงย่านใกล้คลื่นอินฟราเรด (Near-Infrared Camera: NIRCam) ทำให้ได้ภาพย่านแสงสีแดงที่สว่างสดใส มีการกระจัดกระจายตัวของฝุ่นในแนวยาว และมีการรวมตัวในลักษณะการทิ่ม (Spike) ออกมาจากเสา รวมถึงยังเป็นการจับภาพ (Snapshot) กระบวนการกำเนิดดวงดาวที่มีวงจรเป็นการรวมตัวของมวลแก๊สและฝุ่นจนเกิดการรวมตัวด้วยแรงโน้มถ่วงระหว่างมวลจนเกิดพลังงานความร้อนและได้เป็นดาวดวงใหม่ออกมา
ภาพถ่ายใหม่ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ยังมีรายละเอียดสำหรับการศึกษาอวกาศอีกมาก แต่ภาพที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าการถ่ายภาพด้วยย่านแสงใกล้อินฟราเรดช่วยให้กล้องสามารถจับภาพที่มีกระบวนการต่าง ๆ และสร้างภาพในลักษณะ 3 มิติ ออกมาได้อย่างสวยงาม อีกทั้งยังเป็นภาพถ่ายแรกที่สามารถระบุกระบวนการสร้างดวงดาวในอวกาศได้อย่างชัดเจน โดยภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพจากเนบิวลาอินทรี (Eagle Nebula) ซึ่งห่างจากโลกไปราว 6,500 ปีแสง หรือประมาณ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร หรือเกือบ 4,000 เท่า ของระยะห่างระหว่างโลกไปดวงอาทิตย์
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ NASA