รีเซต

เผด็จการพม่าออกลาย พิจารณา5ฉันทามติอาเซียน "หลังชาติสงบ" เคเอ็นยู-ทัพพม่าดวลสนั่นสาละวิน

เผด็จการพม่าออกลาย พิจารณา5ฉันทามติอาเซียน "หลังชาติสงบ" เคเอ็นยู-ทัพพม่าดวลสนั่นสาละวิน
ข่าวสด
27 เมษายน 2564 ( 15:21 )
116

เผด็จการพม่าออกลาย พิจารณา5ฉันทามติอาเซียน "หลังชาติสงบ" เคเอ็นยู-ทัพพม่าดวลสนั่นสาละวิน ขึ้นบัญชีก่อการร้ายรัฐบาลเงา

 

 

เผด็จการพม่าออกลาย - วันที่ 27 เม.ย. เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า กระทรวงสารนิเทศเมียนมา (พม่า) เผยแพร่แถลงการณ์ต่อฉันทามติ 5 ข้อ จากที่ประชุมอาเซียน ยืนยันว่ากองทัพพม่าพร้อมพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวหลังประเทศชาติเข้าสู่สภาวะ "สงบเรียบร้อย"

 

 

ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการให้สัมภาษณ์ของบรรดาผู้นำชาติอาเซียนที่ระบุว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่องไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่ามีท่าทีตอบรับฉันทามติ 5 ข้อ ของที่ประชุมอาเซียนเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

 

 

ฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การยุติความรุนแรง 2.การตั้งเวทีเจรจาหารือของทุกฝ่าย 3.ผู้แทนพิเศษประธานอาเซียนเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวก 4.เปิดทางให้ภารกิจมนุษยธรรมจากอาเซียน และ 5.เปิดทางให้ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนเดินทางเยือนพม่าเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

 

แถลงการณ์ของเผด็จการพม่า ระบุว่า ได้แจ้งให้อาเซียนทราบว่าจะพิจารณาข้อเสนอที่สร้างสรรค์อย่างถี่ถ้วน แต่ให้ความสำคัญที่สุดกับการนำรักษาระบบนิติธรรมและนิติรัฐ รวมถึงการนำประเทศชาติเข้าสู่สภาวะสงบเรียบร้อยให้ได้เสียก่อน

 

 

เผด็จการทหารพม่ายังเน้นย้ำให้บรรดาผู้นำชาติอาเซียนได้ศึกษาเอกสารข้อเท็จจริงที่ทางพล.อ.อาวุโสมิน นำไปมอบให้อย่างละเอียดเสียก่อนแสดงท่าทีใดๆ ออกมาต่อสถานการณ์การเมืองในพม่า หลังผู้นำชาติอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงต่อต้าน

 

 

พล.อ.อาวุโส มิน อ่องไหล่

กระทรวงสารนิเทศพม่ายังเผยแพร่คำประกาศของพล.อ.อาวุโสมิน และสภาปกครองแห่งชาติ (เอสเอซี) ว่าได้หารือถึงการขึ้นทะเบียน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

 

รายงานระบุว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) หรือเดิมคือ ปยีตองซูลุดดอว์ รัฐบาลเงาแห่งพม่า ก่อตั้งโดยบรรดานักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งรอดพ้นการไล่ล่าของเผด็จการทหารพม่า โดยซีอาร์พีเอช ระบุว่า กลุ่มของตนมีความชอบธรรมในฐานะรัฐบาลที่แท้จริง เพราะได้รับฉันทามติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ผลลัพธ์การเจรจาของอาเซียนข้างต้นซึ่งถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากประชาคมโลกก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยนั้นมองว่า เป็นพัฒนาการในทางบวก เพราะสามารถนำพล.อ.มิน มาสู่เวทีเจรจาได้

 

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการหารือไม่ครบทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอ็นยูจีที่ไม่ได้รับเชิญไปร่วมหารือด้วย ทั้งยังตอกย้ำความล้มเหลวของอาเซียนในการบีบบังคับให้เผด็จการทหารพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งชาติ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) รวมทั้งประธานาธิบดีวิน มินต์ ซึ่งถูกจับตัวไปตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ.

 

ด้านนางซิน หม่า ออง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ระบุผ่านทวิตเตอร์ของเอ็นยูจี ว่าเอ็นยูจีไม่เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งการหารือกับบุคคลที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์ในพม่าครั้งแล้วครั้งเล่า

 

"สำหรับการเมืองแล้วแน่นอนว่าการเจรจาย่อมเป็นหนทางแก้ไข แต่เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับพวกเราในการต้องพูดคุยกับคนที่ไม่เคยยอมรับความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังก่อความรุนแรงอยู่เรื่อยไป" นางซิน ระบุ

 

ด้านความคืบหน้าสถานการณ์มิคสัญญีในพม่านั้นองค์การช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 753 ราย ถูกคุมขัง 3,441 คน โดยยังมีการเดินขบวนประท้วงตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

 

ภาพถ่ายจากฝั่งไทยไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำสาละวิน (SCMP)

วันเดียวกัน ยังเกิดการสู้รบดุเดือดบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของพม่าติดกับประเทศไทย หลังกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) เปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่า ส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด แต่สุดท้ายเคเอ็นยูสามารถยึดที่มั่นดังกล่าวได้สำเร็จบริเวณริมแม่น้ำสาละวิน เมื่อเวลาประมาณ 05.00 ถึง 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

การสู้รบดังกล่าวสร้างตื่นตระหนกให้กับชาวบ้านในฝั่งไทยที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวินอีกฟากหนึ่ง ระบุว่า ได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องในช่วงก่อนรุ่งสาง จากนั้นจึงเห็นเปลวไฟและควันลอยขึ้นมาจากตีนเขาฝั่งพม่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง