รีเซต

สินทรัพย์ดิจิทัล คืออะไร?

สินทรัพย์ดิจิทัล คืออะไร?
TrueID
28 พฤษภาคม 2564 ( 14:20 )
494

ในโลกเรามีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมาช้านานแล้ว ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนสินค้ากัน การใช้ทองคำเพื่อแลกสินค้า การกำหนดค่าเงินเพื่อซื้อสินค้า ปัจจุบันเข้ามาสู่โลกดิจิตอลจะทำอะไรก็ต้องมีความรวดเร็ว ไม่เช่นก็ไม่อาจแข่งขันในโลกธุรกิจที่ทันสมัยได้ วันนี้ trueID จะพาทุกท่านไปรู้จักสินทรัพย์ดิจิทัลว่าคืออะไร มีประโยชน์ต่อเราอย่างไร

 

 

สินทรัพย์ดิจิทัล คืออะไร?

 

สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน มีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เหรียญดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ เราสามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็น 3 ประเภท โดยพิจารณาตามลักษณะของการใช้งานและสิทธิที่กำหนดไว้สำหรับผู้ถือ ดังนี้

 

(1) คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอกนิกส์ ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (means of payment) เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน คริปโทเคอร์เรนซีที่เรารู้จักกันดี เช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม เป็นต้น และต่อมาก็มีพัฒนาการในการนำคริปโทเคอร์เรนซีที่นำมูลค่าไปตรึง (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินต่าง ๆ สมมติว่ากำหนดให้ 1 เหรียญดิจิทัล เท่ากับ 1 บาท ซึ่งเราจะเรียกคริปโทเคอร์เรนซีลักษณะนี้ว่า stable coin  

แม้ว่าจะมีการยอมรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีกันในบางร้านค้าหรือในกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่คริปโทเคอร์เรนซีก็ไม่ใช่เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) ซึ่งจะแตกต่างจาก สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ออกมาเพื่อใช้เช่นเดียวกับเงินตรา (legal tender) ของประเทศนั้น ๆ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล 

 

(2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยโทเคนดิจิทัล ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะแตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีตรงที่คริปโทเคอร์เรนซีไม่มีการให้สิทธิแก่ผู้ถือ เป็นแต่เพียงสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น ส่วนโทเคนดิจิทัลจะ “ให้สิทธิ” แก่ผู้ถือ โดย investment token มีวัตุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการลงทุน เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุนในโครงการ และผู้ลงทุนก็คาดหวังกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น ดังนั้น investment token จึงมีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ ในต่างประเทศส่วนใหญ่จึงกำกับดูแล investment token ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์

สำหรับประเทศไทย การออกเสนอขาย investment token จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

 

 (3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือ นำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการดังกล่าว โดยหากสินค้าหรือบริการนั้นพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก (utility token พร้อมใช้) จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต. แต่หากสินค้าหรือบริการนั้นยังไม่พร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ (utility token ไม่พร้อมใช้) โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility token ไปพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโครงการให้แล้วเสร็จ ดังนั้น การออกเสนอขาย utility token ไม่พร้อมใช้ ก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับ investment token คือจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

 

 

 

 

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งกับคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) หรือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (fund manager) จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

 

เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ ผู้ลงทุนควรต้องมีความรู้ด้านเทคนิคและเข้าใจความเสี่ยง ดังนั้น จึงควรศึกษาให้ดีก่อนลงทุน รวมทั้งตรวจสอบว่าคนที่มาชักชวนให้ลงทุนเป็นผู้ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล และสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชน โทรศัพท์ 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง