สหรัฐฯ จัดการพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่ ไม่แปลงเก็บเป็นไฟฟ้า แต่ใช้พลังงานความร้อนโดยตรงเลย
บริษัทสตาร์ตอัปด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของสหราชอาณาจักร อย่าง เนกเคด อีเนอร์จี (Naked Energy) มีวิธีการใหม่ในการจัดการกับพลังงานแสงอาทิตย์ คือจะไม่แปลงพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่ แต่จะนำพลังงานความร้อนไปใช้ประโยชน์โดยตรงเลย
การดำเนินการเช่นนี้ จะช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากไป เพราะหากพิจารณาการนำพลังงานทั่วโลกไปใช้ จะพบว่ามันถูกนำไปใช้เพื่อทำความร้อนหรือความเย็นโดยตรงมากถึง 50% ดังนั้นมันจึงฟังดูสมเหตุสมผลที่จะนำพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ไปใช้โดยตรงเลย วิธีการนี้มีข้อดีตรงที่เป็นขั้นตอนการทำงานที่ไม่ซับซ้อน จึงไม่ต้องลงทุนสูงในการวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรม รวมถึงไม่ต้องลงทุนในนวัตกรรมกักเก็บพลังงานด้วย
การทำงานของมันจะมีการออกแบบโครงสร้างมาเพื่อรับพลังงานความร้อน ใต้แผงโซลาร์เซลล์จะมีท่อแก้วปิดผนึกสุญญากาศเรียงเป็นแถว ท่อแก้วนี้จะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ และจะใช้เพื่อเพิ่มความร้อนให้กับของเหลว จากนั้นของเหลวร้อนก็จะไหลเวียนในระบบปิดระหว่างระบบที่สร้างขึ้นมานี้กับถังเก็บน้ำ ความร้อนก็จะถ่ายโอนไปยังน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นทำอาหาร อาบน้ำ ล้างจาน รวมถึงการใช้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นภายในอาคารได้ด้วย อย่างไรก็ตาม กระบวนการแบบนี้ถือว่าไม่ใช่แนวทางใหม่ มีหลายประเทศใช้แล้วอย่างจีน อินเดีย และตุรกี แต่ถือเป็นเรื่องใหม่ในสหรัฐฯ
การติดตั้งระบบนี้ครั้งแรกในสหรัฐฯ ของเนกเคด อีเนอร์จี ติดตั้งที่มหาวิทยาลัยเครตัน (Creighton) ในรัฐเนแบรสกา เริ่มใช้งานจริงในฤดูร้อนนี้ และปัจจุบันใช้สร้างอากาศอุ่นให้กับนักศึกษาประมาณ 400 คน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 40 เมตริกตัน
ฟังดูแล้วเหมือนเทคโนโลยีนี้จะไม่ใช่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่มันคือการนำเสนออีกหนึ่งวิธีในการจัดการกับพลังงาน ทั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยต้นทุนที่แน่นอนของการติดตั้งโครงสร้างระบบนี้ จึงยากที่จะประเมินว่ามันคุ้มค่าในเรื่องการลงทุนหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีจุดที่ต้องพิจารณาคือ เป็นเทคโนโลยีที่นำความร้อนไปใช้โดยตรง จึงอาจเหมาะกับประเทศเขตหนาวที่ต้องใช้พลังงานเพื่อความอบอุ่นมากกว่า รวมถึงหากอยู่สภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดจำกัด ก็อาจทำให้การใช้พลังงานไม่เต็มประสิทธิภาพได้ แต่บริษัทก็ได้มีแผนการพัฒนาระบบแบบไฮบริดในอนาคต ซึ่งสามารถใช้พลังงานความร้อนได้โดยตรง รวมถึงสามารถกักเก็บเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ในแหล่งเดียวกัน
ที่มาข้อมูล Interestingengineering
ที่มารูปภาพ Nakedenergy