รีเซต

4 โบรกสกรีน 16 หุ้นแกร่ง โค้งสุดท้ายปีฉลูตัวไหนปัง !

4 โบรกสกรีน 16 หุ้นแกร่ง  โค้งสุดท้ายปีฉลูตัวไหนปัง !
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2564 ( 15:37 )
259

ตลาดหุ้นไทยกลับมาสู่โหมดกระทิงอีกครั้ง  นับตั้งแต่ครึ่งหลังเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังสถานการณ์โควิดภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าหมื่นรายต่อวัน ผนวกกับรัฐเดินหน้าเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ 63 ประเทศเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว หนุนเม็ดเงินทุนต่างชาติ ไหลเข้ามาที่ตลาดหุ้นไทย 3 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ  

 

ขณะเดียวกันจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 12.0% จากสิ้นปี  63 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค  โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าดัชนี คือกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง


สำหรับแนวโน้มในช่วงโค้งสุดท้ายปีฉลูนี้จะวิ่งต่อแค่ไหนก่อนย่างเข้าสู่ปีขาล กูรูตลาดหุ้นได้ให้มุมมองผ่าน TNN Online เผื่อเป็นแนวทางให้แก่นักลงทุนในการปรับพอร์ตรับทิศทางตลาดในช่วงต่อไป



นำโดย นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยลงไปต่ำสุดที่ 1.07 แสนล้านบาทจนถึงเดือนส.ค. แต่หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่อง จนเหลือยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเพียง 6 หมื่นล้านบาท



นอกจากนี้หากพิจารณาเฉพาะช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ดัชนี SET อยู่ภาวะทรงตัว เนื่องจากถูกนักลงทุนสถาบันฯ ขายสุทธิกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท



ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่านักลงทุนสถาบันฯ จะขายสุทธิหุ้นไทยลดน้อยลง และกลับเข้ามาซื้อสุทธิบ้าง โดยคาดว่าปลายปีจะมีแรงซื้อกองทุน SSF และ RMF มากกว่าช่วงปลายปี 2563 ที่  1.1 หมื่นล้านบาท เข้ามาช่วยหนุนตลาด หลังจากภาพการเปิดประเทศมีความชัดเจนขึ้น



สำหรับปัจจัยที่ติดตามเดือนพ.ย.เป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่ากนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% เหมือนเดิมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีหน้า นอกจากนี้ช่วงกลางเดือน ติดตามการประกาศงบไตรมาส 3/64 คาดว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีและไตรมาส 4/64 ผลประกอบการของบจ.น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น  รวมถึงการทยอยปรับเป้าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากหลายสำนักมีการปรับจีดีพีเพิ่ม เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร. ปรับจีดีพีจาก 0.5% เป็น 1% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับจากติดลบ 0.5% เป็นบวก 0.2%



ส่วนปลายเดือนพ.ย.ติดตามการรายงานผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED minutes เพื่อติดตามข้อมูลการลดคิวอีในปีหน้าว่าเป็นอย่างไร แม้ว่าในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ย.ที่ผ่านมาจะลดวงเงินคิวอีเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์แต่ต้องดูว่าอัตราการลดคิวอีจะเร่งขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่



ด้านกลยุทธ์การลงทุนช่วงเปิดประเทศปลายปี และยังเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอย ธีมลงทุนยังคงเน้นสะสมหุ้นเปิดเมืองเป็นหลัก โดยหุ้นเด่นที่แนะนำคือ CPALL  ราคาเป้าหมาย 70.50 บาท รับผลบวกจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หุ้นตัวถัดมาคือ TIDLOR ราคาเป้าหมาย 44 บาท หลังจากที่ราคาปรับตัวลงมาก่อนหน้านี้และต่ำกว่าราคาไอพีโอ แต่กำไรกำลังเข้าช่วงพีคของปี


ส่วนหุ้นอีกตัวคือ ERW ราคาเป้าหมาย 3.70 บาท ได้ผลดีจากท่องเที่ยวฟื้นเนื่องจากมีสัดส่วนโรงแรมในไทย 90%  ปิดท้ายที่ BLA ราคาเป้าหมาย 35 บาทรับผลบวกจากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น  ด้านกรอบการลงทุนในเดือนพ.ย.นี้แนวรับ 1,600 จุด แนวต้านที่ 1,650 จุด และสิ้นปีนี้คาดดัชนีจะแตะที่ 1,670 จุด


ขณะที่นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า(ประเทศไทย) มองว่า  ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาไม่ดีนัก แต่ตลาดมองว่าธุรกิจไตรมาส 4 จะกลับมาฟื้นตัว  ประกอบกับการคาดการณ์ว่ารัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช้อปดีมีคืน รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์ไฟฟ้า จะช่วยหนุนดัชนีไปต่อได้  


นอกจากนี้เชื่อว่าต่างชาติจะกลับมาซื้อหุ้นไทยในช่วงปลายปีเหมือนทุกปี หนุนดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,580 -1600 จุด และแนวต้านที่ 1,680-1,700 จุด


แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน รวมถึงการควบคุมกฎระเบียบของกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเอเชีย แต่คาดว่าจะอยู่ในกรอบจำกัด


นอกจากนี้ต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังเปิดประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่า หลายประเทศที่มีการเปิดประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยุโรป  ซึ่งหากตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมามากกว่า 10,000  คนขึ้นไป จะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นระยะสั้น


ส่วนการประชุมกนง.คาดว่าคงดอกเบี้ยไว้ 0.5% เหมือนเดิม โดยประเทศที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย  อาจจะเป็นเกาหลีใต้และแคนาดา ส่วนไทยนั้นยังไม่มีการปรับขึ้นไปจนถึงปีหน้า เพราะการลดคิวอีของสหรัฐฯ ไม่ได้มีผลกระทบต่อไทยมากนัก ดังนั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นนโยบายการคลังมากกว่านโยบายการเงิน



สำหรับประเด็นทางการเมืองอาจจะกระทบต่อตลาดบ้าง แต่อาจถูกหักล้างกับสถานการณ์ช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วง High Season คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มหลังเปิดเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในทุกวิกฤตจะนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยมีการยุบสภา แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล



หากมองถึงหุ้นเด่นที่น่าลงทุนเน้น Defensive เริ่มจาก CPALL ราคาเป้าหมาย 69 บาท ถัดมาเป็น AOT ราคาเป้าหมาย 74 บาท ตัวต่อมาคือ BBL ราคาเป้าหมาย 155 บาท และสุดท้ายคือ ADVANC ราคาเป้าหมาย 222 บาท


 ด้านน.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินว่า เฟด และธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี เตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่ได้รีบปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เป็น Negative น้อยลง


 สำหรับปัจจัยที่ติดตาม คือจำนวนผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากที่มีการเปิดเมืองและเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจปลายปี  ส่วนวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเริ่มมีการนำเข้ามากขึ้น ดังนั้นคาดว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้

 

ขณะที่การประชุมกนง. คาดว่าจะคงดอกเบี้ยโดยที่ 0.5% และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยยังห่างไกลมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมองว่าดอกเบี้ยอาจจะมีการพิจารณาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า



นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประกาศงบไตรมาส 3/64 คาดว่าจะไม่ดีและถือเป็นจุดต่ำสุดเนื่องจากบจ.ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด  ส่วนงบไตรมาส 4/64 มองว่าจะฟื้นตัวไปจนถึงปีหน้า รวมถึงพัฒนาการทางการเมือง หลังจากทุกพรรคเริ่มมีการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ส่วนปัจจัยต่างประเทศเป็นเรื่องเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์

   

ด้านกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้น Selective Buy ธีมเปิดเมือง ประกอบด้วย BDMS ราคาเป้าหมาย 27 บาท, KTC    ราคาเป้าหมาย 82 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 170  บาท และ ADVANC ราคาเป้าหมาย 227 บาท

   

ทั้งนี้ประเมินกรอบเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยเดือนพ.ย.อยู่ที่ 1,590-1,680 จุด และเดือนธ.ค.ที่ 1,640- 1,680 จุด แต่ขอเตือนนักลงทุนว่า ช่วงเวลาที่หุ้นปรับตัวขึ้นมากไม่ควรไล่ราคา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง เพราะอาจจะถูกขายทำกำไรระยะสั้นได้


ปิดท้ายกันที่นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า  ตลาดหุ้นไทยมีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว ความชัดเจนดีขึ้นคาดว่านักลงทุน ต่างชาติ จะกลับมาซื้อหุ้นไทย จาก เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ซื้อสุทธิหุ้นไทย 4 พันล้านบาท จากก่อนหน้านี้มีการขายสุทธิ 4พันล้านบาท


นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ ประกาศลด QE Tapering 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบาทอ่อนค่า แต่การเปิดรับนักท่องเที่ยวปลายปีจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าซึ่งก็ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวทั้ง 2 ขา ส่วนราคาน้ำมันยังสูงทำให้บริษัทมีกำไรจากสต็อกน้ำมันหรือ stock gain


ส่วนการประชุมกนง.วันที่ 10 พ.ย.คาดว่าคงดอกเบี้ยตามตลาดคาด แม้ว่าปีหน้าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง นอกจากนี้ ติดตาม การประกาศรายชื่อหุ้นเข้า-ออก ดัชนี MSCI ช่วงเช้ามืดวันที่ 12 พ.ย.ตามเวลาประเทศไทย คาดว่า กระทบหุ้นไทย ระยะสั้น


ขณะที่การประกาศงบไตรมาส 3/64 ตลาดรับรู้อยู่แล้วว่าไม่ดีจากปัญหาการล็อกดาวน์ทำให้หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง สื่อสาร ค้าปลีก ปรับตัวลดลงซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุด หรือ bottom outซึ่งหากย่อตัวลงเป็นจุดเข้าซื้อ


ขณะเดียวกันช่วงปลายปีคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการซื้อกองทุน SSF และ RMF จะช่วยพยุงดัชนี แม้ไม่ได้มากนัก แต่ยอมรับว่าในระหว่างทาง อาจจะมีปัจจัยอื่นที่มากระทบต่อตลาดหุ้น   


นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือเป็นตัวเลขภาคการผลิตของจีน-สหรัฐฯ  เงินเฟ้อการจ้างงานทั่วไปรวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังจากเปิดประเทศ เพราะจะมีการผ่อนคลายการกำกับการเศรษฐกิจมากขึ้นตลอดจนผู้ฉีดวัคซีนในปลายปีจะครอบคลุมมากขึ้นถึง 70 %

 

ส่วนประเด็นที่ติดตามที่สำคัญคือเศรษฐกิจจีน คาดว่าชะลอตัวจากปัญหาไชน่าเอเวอร์แกรนด์และปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ฮ่องกงอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่หรือไม่  ประกอบกับจีนในบางพื้นที่มีปัญหาขาดแคลนเรื่องไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงหุ้นขาลงเป็นช่วงจังหวะทยอยสะสม


สำหรับ Theme การลงทุนก็จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพลังงาน หลังจากมีการเปิดเมืองการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมถึงหุ้น health care หุ้นสื่อสารนำโดย CPALL ราคาเป้าหมาย 84 บาท, PTTEP ราคาเป้าหมาย 145 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 170 บาท และ ADVANC ราคาเป้าหมาย 259  บาท ส่วนเป้าดัชนีปลายปีแนวรับอยู่ที่ 1,580 แนวต้านอยู่ที่ 1,690 จุดและ ปีหน้าคาดว่าดัชนีแตะ 1,850จุด


มุมมองที่ออกมาของบรรดาโบรกเกอร์มีทิศทางสอดรับกันว่า การเปิดประเทศจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นได้ ตราบใดที่รัฐยังคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และเร่งฉีดวัคซีนให้คลุมประชากร 70% ปลายปีนี้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้


เพียงแต่ต้องไม่ลืมว่า ระดับราคาในปัจจุบัน ก็ถือว่าสูงพอตัว และแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ก็ยังยืนอยู่บนความไม่แน่นอนของปัจจัยโควิด ที่สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้ตลอดเวลา การเข้าลงทุนโดยอิงปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตในอนาคต ไม่หลงไปไล่ราคาในหุ้นที่มีเจ้ามือคอยควบคุมอยู่ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับทิศทางตลาดที่ hig risk high return แบบนี้ได้



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง