นางเงือกมีจริงหรือ ?! เผยผลชันสูตรร่างมัมมี่นางเงือกในประเทศญี่ปุ่น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำร่างมัมมี่นางเงือกที่ถูกเก็บไว้ที่วัดเอ็นจุอิน ย่านอาซากูซะ จังหวัดโอคายามะ ประเทศญี่ปุ่นมาทำการชันสูตรด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าร่างมัมมี่นางเงือกดังกล่าวเป็นเพียงการตบตาของคนยุคก่อนเท่านั้น
ผลการชันสูตรร่างมัมมี่นางเงือกด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำร่างมัมมี่นางเงือกที่มีด้านบนเป็นคนและมีท่อนล่างเป็นปลาไปเข้าเครื่องเอกซเรย์ (X-ray) และเครื่องซีที สแกน (CT scan) ซึ่งเผยให้เห็นว่าด้านในของร่างมัมมี่นางเงือกประกอบด้วยผ้า, กระดาษและผ้าฝ้าย รวมถึงปูนปลาสเตอร์ด้วยโดยเฉพาะในส่วนหัว อีกทั้งยังมีเข็มโลหะปักอยู่ที่หลังคอและส่วนล่างของร่างกาย
ส่วนที่เป็นปลาด้านล่างของร่างกายทำมาจากกระดูกจากหางและครีบหลังของปลากระดูกแข็งวงศ์ปลาจวด ในขณะที่ส่วนของกรามเป็นของปลากินเนื้อชนิดหนึ่งแต่ไม่พบกระดูกหลักในกระดูกสันหลังหรือซี่โครง
นอกจากนี้ยังมีการนำไปทดสอบคาร์บอนเพื่อหาอายุของวัตถุ โดยพบว่าร่างมัมมี่นางเงือกนี้ถูกสร้างขึ้นในตอนปลายของปี 1880 อีกทั้งยังมีการตรวจหาดีเอ็นเอ (DNA) แต่ก็ไม่พบ
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์สรุปว่าร่างมัมมี่นางเงือกนี้เป็นเพียงของปลอมและถูกสร้างขึ้นเพื่อหลอกให้คนหลงเชื่อว่านางเงือกมีอยู่จริง เนื่องจากคนญี่ปุ่นในสมัยโบราณมีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับนางเงือกหนึ่งในนั้นก็คือความเชื่อที่ว่านางเงือกสามารถช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้
ร่างมัมมี่นางเงือกยังคงเป็นสมบัติล้ำค่าของวัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ผลสรุปจะออกมาว่าร่างมัมมี่นางเงือกเป็นของปลอมแต่โคเซน คูอิดะ (Kozen Kuida) เจ้าอาวาสของวัดเอ็นจุอินได้กล่าวว่าร่างมัมมี่นางเงือกยังคงเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของวัด เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ร่างมัมมี่นางเงือกมาอยู่ที่วัดเอ็นจุอินมีผู้คนมากมายหลั่งไหลมาอธิฐานกับมัน ทำให้มันเป็นวัตถุที่เต็มไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาจากชาวบ้าน โดยทางวัดจะยังทำการเก็บรักษาร่างมัมมี่นางเงือกไว้อย่างดีต่อไป
ข้อมูลและภาพจาก Asahi