รีเซต

เปิดภาพจำลอง เมืองทั่วโลกถูกน้ำท่วม เมื่อ "โลกร้อน" สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ประชากรไร้ที่อยู่อาศัย

เปิดภาพจำลอง เมืองทั่วโลกถูกน้ำท่วม เมื่อ "โลกร้อน" สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ประชากรไร้ที่อยู่อาศัย
Ingonn
14 ตุลาคม 2564 ( 17:44 )
1.3K
1
เปิดภาพจำลอง เมืองทั่วโลกถูกน้ำท่วม เมื่อ "โลกร้อน" สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ประชากรไร้ที่อยู่อาศัย

เราคงเคยดูหนัง หรือชมสารคดีเกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" กันมามาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ "น้ำท่วมโลก" ที่ในหนังมักจะบอกเราว่า เป็นจุดจบของโลกใบนี้ ที่มาจากฝีมือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม จึงถูกเอาคืนกลับด้วย "ภัยพิบัติ" ร้ายแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ถ้าหนังหรือสารคดีที่เคยดู กลายเป็นความจริงในระยะเวลาอันใกล้ล่ะ?

 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยระบุเรื่อง "โลกร้อน" ผ่านเว็บไซต์ว่า ภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เมตร หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส อาจจะส่งผลให้ที่ดินกว่า 1.79 ล้านตารางกิโลเมตรได้รับความเสียหาย ประชากรโลกกว่า 187 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะดินแดนและประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

 

จะเป็นอย่างไรเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น?

อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส

  • เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรง ผลผลิตจะลดลง ขาดแคลนอาหาร
  • เกิดทะเลทรายใหม่ ๆ ความชื้นในดินจะลดลง หน้าดินก็จะแห้ง และถูกลมพัดหายไป กลับกลายเป็นทะเลทรายอีกครั้ง

 

อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

  • นํ้าแข็งบนกรีนแลนด์ ซึ่งธรรมชาติใช้เวลาสะสมมานานกว่า 150,000 ปี จะหายไป ระดับนํ้าทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น
  • โลกจะสูญเสียแนวปะการังซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ไปเกือบทั้งหมดเนื่องจากปรากฏการณ์ฟอกขาว
  • สัตว์นํ้าลดความอุดมสมบูรณ์ลง
  • มหาสมุทร ซึ่งถือเป็นอ่างรับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นด่านแรกของกลไกซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ โดยปกติแล้วสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หลายชนิดจะดูดซับเอาคาร์บอนใน นํ้าทะเล เพื่อนําไปใช้สร้างกระดูกหรือเปลือก คาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไปจะทําให้นํ้าทะเลเป็นกรดมากขึ้น และไปขัดขวางกระบวนการดูดคาร์บอน

 

อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส

  • เป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเราจะไม่สามารถย้อนกลับหรือหยุดยั้งกระบวนการโลกร้อนได้อีกต่อไป
  • ขั้วโลกเหนือจะไม่มีนํ้าแข็งในหน้าร้อนอีกต่อไป
  • ป่าฝนอะเมซอนจะมีสภาพแห้งแล้ง ยอดเขาแอลป์ไม่เหลือชั้นนํ้าแข็ง
  • พายุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในความถี่ร้อยปีต่อ 1 ครั้ง จะเกิดบ่อยขึ้นจนเป็นเรื่องปรกติธรรมดา และจะต้องปรับเพิ่มมาตรวัดความเร็วพายุใหม่
  • คลื่นความร้อนเกิดขี้นทั่วทวีปยุโรป จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนกําลังอาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง (เหมือนเหตุการณ์คลื่นความร้อนที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2003 ทําให้มีผู้เสียชีวิตทั่วยุโรปสูงถึง 3 หมื่นคน)
  • กระบวนการสังเคราะห์แสงจะหยุดชะงักลง พืชเก็บออกซิเจนไว้และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศแทน

 

โดยกลุ่มวิจัย Climate Central ได้จำลองภาพสถานที่ไว้ 180 แห่ง ที่หากโลกร้อนขึ้น ตั้งแต่ 1.5 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 3 องศาเซลเซียส จะมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งภาพส่วนใหญ่ปรากฎชัดว่า เมืองหลายแห่งจมอยู่ใต้บาดาล และน้ำท่วมสูงหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย นิวยอร์ค นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลอนดอน และอีกมากมาย ที่ระดับน้ำทะเลสูงจนท่วมที่อยู่อาศัยของประชากรโลก

 

โดยอุณหภูมิดาวเคราะห์โลกอาจสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2060 หรือ 2070 และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษก่อนที่จะถึงระดับสูงสุด

 

ตามรายงานของ Climate Central ปัจจุบันมีผู้คนประมาณ 385 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งในที่สุดแล้วน้ำจะท่วม แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงก็ตาม โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อระดับน้ำทะเลดังนี้

  • หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ 510 ล้านคน
  • หากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ระดับน้ำอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยมากกว่า 800 ล้านคน

 

Climate Central ยังระบุว่า แนวโน้มงระดับน้ำทะเลจะสูงจนถึงขั้นจมใต้บาดาล มักจะพบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศหมู่เกาะเล็กๆ จะมีความเสี่ยงเสียดินแดนเกือบทั้งหมด ซึ่ง8 ใน 10 อันดับแรกของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอยู่ในเอเชีย โดยประชากรประมาณ 600 ล้านคนต้องเผชิญกับภัยจากน้ำท่วมรุนแรงในอนาคต และพบว่า จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในระยะยาว

 

ภาพจำลองน้ำท่วมจาก Climate Central 

 

ภาพจาก Climate Central

 

ภาพจาก Climate Central

 

ภาพจาก Climate Central

 

ภาพจาก Climate Central

 

ภาพจาก Climate Central

 

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ Climate Central

 

 

ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร , สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) , PPTV , Climate Central

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง