รีเซต

นักวิจัยจีนพัฒนาเลเซอร์ความแม่นยำสูง สแกนตัวอักษรจากระยะไกลกว่า 1 กิโลเมตร

นักวิจัยจีนพัฒนาเลเซอร์ความแม่นยำสูง สแกนตัวอักษรจากระยะไกลกว่า 1 กิโลเมตร
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2568 ( 01:41 )
5

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) ได้สาธิตเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถอ่านข้อความขนาดเล็กบนหน้ากระดาษได้จากระยะไกลถึง 1.36 กิโลเมตร หรือประมาณ 0.85 ไมล์ ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดทางด้านการถ่ายภาพระยะไกล

นักวิจัยพัฒนาเลเซอร์อย่างไร ?

เทคโนโลยีนี้อาศัยหลักการรบกวนความเข้มของแสง หรือ Intensity interferometry ซึ่งต่างจากกล้องทั่วไปที่ตรวจจับแสงโดยตรง 

วิธีนี้จะวัดรูปแบบการสะท้อนและการรบกวนของแสง แล้วนำมาสร้างภาพขึ้นใหม่ ทำให้สามารถมองเห็นรายละเอียดที่เล็กมากได้แม้จากระยะไกล

การทดลองใช้ลำแสงเลเซอร์อินฟราเรดจำนวน 8 ลำ ยิงไปยังเป้าหมาย จากนั้นกล้องโทรทรรศน์ 2 ตัวจะจับภาพความเข้มของแสงสะท้อนกลับ 

โดยการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกล้องทั้งสอง ทำให้สามารถสร้างภาพตัวอักษรขนาดเพียง 3 มิลลิเมตรได้อย่างชัดเจน ซึ่งความละเอียดนี้สูงกว่ากล้องโทรทรรศน์ทั่วไปถึง 14 เท่า

นักวิจัยสามารถอ่านข้อความได้ในระยะเกือบหนึ่งไมล์ (Liu et al., Physical Review Letters , 2025)

นอกจากความแม่นยำแล้ว ระบบยังสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดจากความปั่นป่วนในชั้นบรรยากาศ และข้อจำกัดของการตั้งค่ากล้อง ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความละเอียดสูง เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศหรือระบบเซ็นเซอร์ระยะไกล

ตัวอักษรบางตัวที่อ่านโดยการวัดความเข้มของแสง (Liu et al., Physical Review Letters , 2025)


เทคนิคจากวงการดาราศาสตร์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ AI

เทคนิคนี้เคยใช้ในหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์มาแล้ว แต่การทดลองครั้งนี้เป็นหนึ่งในครั้งแรกที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการตรวจจับวัตถุบนโลก โดยเฉพาะกับวัตถุที่ไม่เปล่งแสงด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นการขยายขอบเขตการใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัยยังชี้ว่าการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การควบคุมลำแสงเลเซอร์อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือการเสริมด้วยอัลกอริธึม AI เพื่อช่วยตีความรูปทรงและข้อความ จะยิ่งเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในอนาคต

Shaurya Aarav นักวิจัยด้านออปติกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า "นี่คือความก้าวหน้าทางเทคนิคที่สำคัญในการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ไกลและไม่เปล่งแสงเอง"

ผลงานวิจัยเรื่อง "Active Optical Intensity Interferometry" ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Physical Review Letters เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2025

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง