รีเซต

WHAUP กวาดงานติดตั้ง Solar Rooftop เข้าพอร์ตกว่า 13 MW

WHAUP กวาดงานติดตั้ง Solar Rooftop เข้าพอร์ตกว่า 13 MW
ทันหุ้น
13 พฤษภาคม 2565 ( 18:55 )
235

บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP”  โค้งแรกยังคงโชว์ผลงานธุรกิจการให้บริการน้ำและไฟฟ้าอย่างแข็งแกร่ง ไตรมาส 1/2565 มียอดจำหน่ายน้ำรวมเติบโต 11% พร้อมกวาดงานติดตั้ง Solar Rooftop เข้าพอร์ตกว่า 13 MW ขณะที่โครงการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ดำเนินการแล้วเสร็จ เตรียมจ่อให้บริการเชิงพาณิชย์ครึ่งปีหลัง   ด้านCEO “สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ”เดินหน้าตอกย้ำแผนการขยายธุรกิจน้ำ-ไฟ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเน้นด้าน Operational Excellence เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า และ การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) “WHAUP” เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 ว่า  บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติทั้งสิ้น 608 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 69 ล้านบาท ลดลง 22% และ 63% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่จำนวน 78 ล้านบาท ลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ภาพรวมของผลการดำเนินงานในส่วนธุรกิจหลักที่บริษัทฯ ลงทุนและดำเนินการเองในธุรกิจสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำในประเทศและต่างประเทศโดยรวมเติบกว่า 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มเติม 5 โครงการ จำนวนรวม 13 เมกะวัตต์ โดย 1 ใน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการเมกาบางนา (Mega Bangna) ด้วยกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการ Solar Rooftop ภายนอกนิคม WHA ที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดที่ WHAUP เคยติดตั้งและโครงการดังกล่าวพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 ลดลงเกิดจากการที่บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนทั้ง SPP และ IPP ลดลงเนื่องจากจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการหยุดซ่อมบำรุง

ธุรกิจสาธารณูปโภค  ในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการเติบโตต่อเนื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตรวม 11%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 โดยมีปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำในประเทศจำนวน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้าจากกลุ่มโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจำหน่ายน้ำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วยผลิตที่ 1 และ 2 ในปี 2564 ที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมความต้องการใช้น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ไม่ว่าจะเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) นั้นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ขณะที่ธุรกิจสาธารณูปโภคในต่างประเทศ โครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ที่ประเทศเวียดนาม ในไตรมาส 1/2565 มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 24% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

 

ธุรกิจด้านพลังงาน ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 43 ล้านบาท ลดลง 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ค่า Ft ในไตรมาส1/2565 ยังไม่ได้มีการปรับเพื่อให้สะท้อนการเพิ่มของต้นทุนดังกล่าวทั้งหมด ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า Gheco-One จำนวน 18 วัน

 

ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นั้น บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 60 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้การเติบโตของรายได้กว่า55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมแล้วทั้งสิ้น 105 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท (Contracted Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะ 655 เมกะวัตต์

 

สำหรับความคืบหน้า ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox) ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยการลดค่าไฟและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปัจจุบันการเตรียมความพร้อมของโครงการแล้วเสร็จ และ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 23 บริษัท คาดว่าจะเริ่มการซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีหลังปีนี้  โดยโครงการนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการหนุนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ในอนาคต

 

 

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ กล่าวตอกย้ำถึงแผนการขยายธุรกิจในปี 2565 ว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างความมั่นใจว่า โครงการต่างๆ ในธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้า(Solar Rooftop)  ที่กำลังก่อสร้างนั้นจะแล้วเสร็จและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ได้ตามแผน เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของ Operational Excellence เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งโรงน้ำและโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จะมีความพร้อมในการจ่ายน้ำและไฟฟ้าให้กับลูกค้าตามความต้องการ ในขณะเดียวกันก็ยังคงนำเสนอ products ทั้งน้ำและไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะธุรกิจ Solar ที่จะรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป  และนอกนิคมอุตสาหกรรม ให้บรรลุเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายสะสมในส่วนของไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 150 เมกะวัตต์ในปีนี้ และแตะ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

นอกจากนี้ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2565 มีการอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ 0.2525 บาทต่อหุ้น ซึ่งแบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 จำนวน 0.0925 บาทต่อหุ้น และอนุมัติจ่ายปันผลเพิ่มเติมอีก 0.16 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง