รีเซต

เตือนมนุษย์เงินเดือนวัย 45-50 ปีเสี่ยงตกงานไม่ต่างกับเด็กจบใหม่ แนะปรับตัวด่วน

เตือนมนุษย์เงินเดือนวัย 45-50 ปีเสี่ยงตกงานไม่ต่างกับเด็กจบใหม่ แนะปรับตัวด่วน
มติชน
23 พฤศจิกายน 2563 ( 11:28 )
215

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงแนวโน้มตลาดแรงงานไทยปี 2564 ว่า ตลาดแรงงานของไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและมีปัจจัยไม่แน่นอนสูงจากโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยมี 3 รูปแบบหลักได้แก่ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ 3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เหล่านี้ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูงเนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด ปัจจุบันแรงงานไทยมีประมาณ 37 ล้านคน 50% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม มีแนวโน้มว่าแรงงานช่วงอายุ 45-50 ปีมีทิศทางจะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือ เออร์รี่ รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน นอกจากนี้แรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปีก็เป็นเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกันเนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ

 

 

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวร หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ส่วนแรงงานแรงงานใหม่ซึ่งเป็นเด็กจบใหม่ในช่วงกุมภาพันธ์ ปี 2564 ประมาร 5 แสนคนเมื่อรวมกับเด็กที่จบในปีนี้แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน รวมแรงงานจบใหม่สะสมประมาณ 9 แสนคน เสี่ยงตกงานสูงเช่นกัน แม้จะมีการจ้างเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล แต่ยังไม่มากนัก คาดว่าจะจ้างเพิ่มขึ้นมากในปี 2565-66 แต่ภาพรวมเด็กที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสาขาไม่ตรงกับความต้องการตลาดอยู่ดี

 

นายธนิต กล่าวว่า ขอแนะนำให้แรงงานเร่งแสวงหาองค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไปต้องเร่งเพิ่มทักษะ เพิ่มความรู้ใหม่ หรือมองหาอาชีพเสริมสำรองในอนาคต ขณะที่ภาครัฐต้องปรับการศึกษาของไทยให้สอดรับกับโลกที่จะเปลี่ยนไป เพื่อให้แรงงานตรงกับความต้องการตลาดในอนาคต โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคนปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงมีอยู่ จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม

 

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งพึ่งพาการท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2564 แม้หลายฝ่ายคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ความไม่แน่นอนมีสูงเมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาอีกครั้ง แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนแต่ต้องรอผลพิสูจน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันเฉลี่ย 63-65% ระดับนี้ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง