สงครามการค้า ตลาดสหรัฐชะงัก! แรงงานจีนนับล้านเสี่ยง l การตลาดเงินล้าน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ผู้ส่งออกจีนกำลังตกอยู่บนความเสี่ยง จากการที่ตลาดสหรัฐฯ หยุดชะงักลง อันเนื่องมาจากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ล่าสุดเอกสารทำเนียบขาวระบุ 'จีน' เจอภาษีนำเข้าสหรัฐสูงสุด 245% โทษฐานดำเนินมาตรการตอบโต้กลับ แต่ไม่มีการชี้แจงว่าตัวเลข 245% มาจากไหน
แคนดิซ หลี่ (Candice Li) ผู้ส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ได้เข้าร่วมงาน แคนตัน แฟร์ (Canton Fair) ในจีน บอกว่า กำแพงภาษี ทำให้คำสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์จากสหรัฐฯ หายไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทฯ เพราะคำสั่งซื้อหลัก หรือกว่าร้อยละ 60 ถึง 70 มาจากอเมริกา เมื่อสินค้าไม่สามารถส่งออกได้ เรียกเก็บเงินไม่ได้ รายได้ก็จะขาดหายไป
และบอกอีกว่า การจะหาตลาดใหม่มาทดแทน คงไม่สามารถหาใหม่ได้ในชั่วข้ามคืน ดังนั้น คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ บริษัทฯ อาจต้องลดชั่วโมงการทำงาน และในที่สุดอาจจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานด้วย เพราะหากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่เช่นนี้ คนที่ได้รับผลกระทบ ในท้ายที่สุดแล้ว ก็คือประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ งาน แคนตัน แฟร์ เป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในเมืองกว่างโจว งานในครั้งนี้ มีผู้แสดงสินค้ามากกว่า 30,000 ราย บนพื้นที่จัดแสดงขนาดใหญ่กว่า 200 สนามฟุตบอล และงานครั้งนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นงานแสดงสินค้าครั้งแรกที่จีนจัดขึ้น นับตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเกิน 100%
รอยเตอร์ส รายงานอีกว่า จากการสอบถามผู้ส่งออก พบว่า คำสั่งซื้อของบริษัทฯ ที่มีลูกค้าหลักมาจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะถูกชะลอออกไปก่อน หรือถูกระงับการจัดส่ง ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และการเติบโตเมื่อปีที่แล้ว จีนต้องพึ่งพาการเกินดุลการค้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่มียอดขายสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
และผลพวกจากกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มว่า จะจำกัดอุปสงค์ของโลกให้ลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ นั่นหมายถึงว่า ความต้องการสินค้าจีนจากประเทศอื่น ๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย
โดย โคเบ้ หวง (Kobe Huang) ตัวแทนขายจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องกรองน้ำและโถสุขภัณฑ์อัจฉริยะ กล่าวว่า ยอดขายของบริษัทฯ ในตลาดยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น แต่ตลาดสหรัฐฯ กลับหยุดชะงักลง ซึ่งแม้ว่าลูกค้าและผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ จะยังไม่ยกเลิกคำสั่งซื้อ แต่พวกเขาบอกให้เรารอก่อน เราก็ต้องรอต่อไป
ส่วนผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมชมงาน แคนตัน แฟร์ เลวี สเปนซ์ (Levy Spence) ประธานบริษัท แอร์ เอสเซนเชียลส์ (Air Esscentials) บอกว่า ตนเองกำลังดูผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ถูกนำมาเสนอขายภายในงาน แต่ยังไม่มีแผนในการสั่งซื้อ เพราะเวลานี้ อัตราภาษียังไม่นิ่ง และดูเหมือนว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งไม่เฉพาะกับสินค้าจากจีนเท่านั้น แม้แต่สินค้าที่จัดหาในสหรัฐฯ เอง ราคาก็สูงขึ้นทุกวันเช่นกัน เพราะวัตถุดิบจำนวนมากก็นำเข้ามาจากทั่วโลก
นอกจากนี้ พบว่าผู้ส่งออกหลายราย ระบุว่า ได้กระจายฐานการผลิตของตนออกไปนอกประเทศจีนมากขึ้นแล้ว รวมถึงขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดอเมริกา
เช่น เฮนรี่ ฮาน (Henry Han) ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตแฟลชไดรฟ์ กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของยอดขายโดยตรงของบริษัท ลดลงจากช่วงก่อนโควิดระบาด ที่มีสัดส่วนร้อยละ 30 เนื่องจากลูกค้าหลายรายนำชิ้นส่วนจากบริษัทฯ ไปประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศที่ 3 เพื่อเลี่ยงภาษี และเมื่อปีที่แล้ว ทางบริษัทฯ เอง ยังได้ศึกษาถึงฐานการการผลิตอื่น เช่น เวียดนาม หรือ ฟิลิปปินส์ เพื่อเลี่ยงผลกระทบโดยตรงจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ แต่แผนดังกล่าวเป็นอันต้องถูกระงับไป เพราะประเทศเหล่านั้น ก็เผชิญกับการจัดเก็บภาษีที่สูงเช่นกัน
ส่วน เดวิด ตู (David Du) ผู้จัดการฝ่ายขายจากบริษัท ซีลอต (Zealot) ผู้ผลิตลำโพง ในจีน กล่าวว่า คำสั่งซื้อจาก สเกตเชอร์ส (Skechers) จำนวน 30,000 เครื่อง เพื่อจำหน่ายในร้านค้าในสหรัฐฯ ถูกระงับไว้ชั่วคราวแล้ว แต่บริษัทฯ ยังสามารถพึ่งพาตลาดอื่นได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ลำโพง ออลอินวัน, พาวเวอร์แบงก์ และไฟฉายฉุกเฉินของบริษัทฯ ได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมที่ไนจีเรีย และปัจจุบัน กลายเป็นตลาดใหญ่ เป็น 2 เท่าของตลาดสหรัฐฯ แล้ว
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวด้วยว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานชาวจีนหลายล้านคน รวมถึงกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
โดย บลูมเบิร์ก รายงานว่า กำแพงภาษีที่อัตรา 145% สำหรับสินค้าจีนนั้น กำลังเป็นภัยคุกคามต่อการเข้าถึงตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
โดยตามประมาณการของ ไชน่า กาแลกซี ซีเคียวริตี้ส (China Galaxy Securities) เมื่อปี 2023 พบว่า การส่งออกมีความสำคัญอย่างมากต่อการจ้างงานในจีน โดยรองรับการจ้างงานประมาณ 120 ล้านตำแหน่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
ขณะที่ โกลแมน แซกส์ ประเมินว่า ตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบจากประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ นั้นคาดว่ามีจำนวนประมาณ 10 ถึง 20 ล้านคน
ส่วน ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) คาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อาจเชื่อมโยงกับงานในเขตเมืองประมาณ 9 ล้านตำแหน่ง
โดยหากการแยกตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ เกิดขึ้นจริง จะยิ่งซ้ำเติมแรงงานจีน ที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับการลดเงินเดือน และการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง การนำปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ น่าจะส่งผลต่อความต้องการในการจ้างงานให้ชะลอตัวลง แม้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องก็ตาม
นอกจากนี้ บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) ยังคาดการณ์ว่า การสูญเสียการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของจีน จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ มีความเสี่ยงมากถึงร้อยละ 3 ของจีดีพี ส่วน โกลแมน แซกส์ ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนลง โดยคาดว่า จีดีพี ของจีนในปี 2025 นี้ จะเติบโตที่ร้อยละ 4 จาก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5
แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ จำนวนมากก็ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้มีการฟ้องร้องต่อศาลในสหรัฐฯ
โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มทนายความได้ยื่นฟ้องต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กรณีภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บจากคู่ค้าต่างประเทศ โดยอ้างว่าประธานาธิบดี ใช้อำนาจเกินขอบเขต
คดีดังกล่าว ยื่นฟ้องโดย ลิเบอร์ตี้ จัสตีซ เซ็นเตอร์ (Liberty Justice Center) ซึ่งเป็นองค์กรไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในนามของธุรกิจขนาดเล็ก 5 ราย ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ถูกกำหนดภาษีศุลกากร ธุรกิจเหล่านี้มีตั้งแต่บริษัทนำเข้าไวน์และสุราในนิวยอร์ก ไปจนถึงบริษัทผลิตอุปกรณ์การเรียน และเครื่องดนตรีในเวอร์จิเนีย
ซึ่ง เจฟฟรีย์ ชวาบ (effrey Schwab) ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ดังกล่าว ระบุในแถลงการณ์ ว่า ไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจเรียกเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมหาศาลเช่นนี้ โดยรัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการกำหนดอัตราภาษี รวมถึงภาษีศุลกากร ให้กับรัฐสภา ไม่ใช่กับประนาธาธิบดี
โดยในคำฟ้อง ได้มีการเรียกร้องให้ศาลระงับการบังคับใช้ภาษีศุลกากร และประกาศว่าทรัมป์ไม่มีอำนาจในการกำหนดภาษีศุลกากร
ด้าน แฮร์ริสัน ฟิลด์ส โฆษกทำเนียบขาว ออกมาปกป้องภาษีศุลกากรของทรัมป์ เขาระบุในแถลงการณ์ ว่า กลุ่มที่ไม่สนับสนุนทรัมป์ จะต่อต้านเขาเสมอ แต่ประธานาธิบดีกำลังยืนหยัดเพื่อคนทั่วไป โดยยุติการที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน เอาเปรียบสหรัฐฯ และแผนของทรัมป์ กำลังสร้างความเท่าเทียมให้กับธุรกิจและแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินระดับชาติที่เกิดจากการขาดดุลเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม ในข่าวระบุด้วยว่า รัฐบาลทรัมป์ กำลังเผชิญกับคดีความที่คล้ายคลึงกันนี้ ในศาลรัฐบาลกลางฟลอริดา ซึ่งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ขอให้ผู้พิพากษาระงับภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากจีน