รีเซต

บุกโรงงาน “กระเบื้องตราเพชร” ส่องไลน์การผลิตหลังคา | TNN Tech

บุกโรงงาน “กระเบื้องตราเพชร” ส่องไลน์การผลิตหลังคา | TNN Tech
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2567 ( 14:39 )
32

หากพูดกระเบื้องหลังคา เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ “กระเบื้องตราเพชร” หนึ่งในแบรนด์กระเบื้องที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 39 ปี ปัจจุบัน บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร มีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ จ.สระบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.ขอนแก่น มีกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ปีละ 1.15 ล้านตัน โดยครอบคลุมตั้งแต่ กระเบื้องหลังคา โครงสร้างหลังคาสำเร็จรูป กลุ่มไม้ฝา บอร์ด ฝ้า และอิฐมวลเบา เรียกว่าได้ Everything in One


คุณสุนทร สุวรรณเจตต์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการผลิตและวิศวกรรม บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร เปิดเผยว่า บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชรอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มายาวนานกว่า 19 ปี ล่าสุดได้มีการเปิดโรงงานใหม่ ที่ จ.สระบุรี โดยมีความพิเศษอยู่ที่การใช้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งวัตถุดิบ พลังงานหรือการใช้แรงงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ บริการลูกค้าอย่างรวดเร็วและปลอดภัย


ไลน์การผลิตกระเบื้องหลังคา 


สำหรับโรงงานแห่งนี้มี 2 แบบ ได้แก่ แบบเรียบ (Adamas) กับแบบลอนกาบกล้วย (Gran Onda) หรือ CT เพชร โดยกระบวนการผลิตเริ่มจากเตรียมวัตถุดิบให้เหมาะสมและมีคุณภาพ ได้แก่ ซีเมนต์ ทราย ฟิลเลอร์ สี และน้ำ เป็นส่วนผสมหลัก หลังจากนั้นจะมีการตรวจวัดความชื้น เพื่อประเมินสัดส่วนการผสมที่เหมาะสม ด้วยระบบอัตโนมัติ 


ซึ่งปริมาณการผสมวัตถุดิบที่โรงงานแห่งนี้กำหนด จะได้กระเบื้องหลังคา 360 แผ่นต่อแบตช์ไซส์ เนื่องจากการผสมแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาในการขึ้นรูปกระเบื้องทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 3 นาที หากผสมเยอะเกินไปก็อาจจะทำให้วัตถุดิบทั้งหมดแข็งตัวได้ 


หลังจากผสมเสร็จแล้ว ส่วนผสมที่ได้จะถูกลำเลียงไปตามสายพานเพื่อนำไปรีดขึ้นรูป ตามดีไซน์ที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้า จากนั้นจะเข้าสู่ระบบตัดให้เป็นชิ้นงาน ด้วยระบบการตัด 2 ใบมีด ซึ่งมีข้อดีตรงที่ใช้เวลาในการตัดน้อย ได้ความยาวกระเบื้องที่เท่ากัน และยังประหยัดวัตถุดิบมากกว่าการตัดในอดีตที่ใช้ 1 ใบมีด เศษคอนกรีตที่เหลือจากการตัดก็สามารถนำกลับมารูปใหม่ได้ 


ตัดเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การพ่นสี ซึ่งที่นี่จะมีการพ้นสีในระบบเปียก หรือที่เรียกว่า กรีนชีส (Green Sheet) ต่อด้วยพ่นสารเคลือบ และเข้าระบบบ่มสินค้า


สำหรับการบ่มสินค้า จำเป็นต้องให้ซีเมนต์ในกระเบื้องทำปฏิกิริยา ซึ่งต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในระหว่างทำปฏิกิริยาจะเกิดความร้อนและกลิ่น โดยที่โรงงี้จะนำกระเบื้องขึ้นชั้นวาง (Rack) แล้วนำกระเบื้องเข้าสู่ห้องอบหรือห้องบ่มกระเบื้อง เป็นการอบแบบไม่ใช้พลังงาน ใช้ความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในซีเมนต์เท่านั้น ปัจจุบันมีการปรับเทคโนโลยีให้ First in Frist out กระเบื้องแผ่นไหนที่เข้าไปก่อน จะแห้งก่อนและออกมาก่อน ทำให้คุณภาพกระเบื้องมีความเสถียร แข็งแรงเท่า ๆ กันทุกแผ่น 


สิ่งที่โรงงานนี้จะไม่เหมือนโรงงานอื่น ก็คือ มีกระเบื้อง 2 โปรไฟล์ โดยชั้นวาง (Rack) ที่บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชรออกแบบนี้ จะต้องคำนวณการใส่กระเบื้องได้ทั้ง 2 โปรไฟล์ เพื่อผลิตให้ได้ต่อเนื่องและยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า โดยระบบที่กล่าวจะแยกแยะการวางกระเบื้องไปตามชั้นวางที่กำหนดทั้งแบบเรียบแบบลอนได้แบบอัตโนมัติ


หลังจากบ่มครบ 24 ชั่วโมงแล้ว กระเบื้องจะถูกลำเลียงออกมาจากห้อง ถูกแกะออกจากแม่พิมพ์ และวิ่งไปตามสายพานเพื่อผ่านระบบยิงกาวพอลิเมอร์ใต้แผ่นกระเบื้อง ป้องกันการขูดขีดระหว่างการบรรจุ จากนั้นจะถูกประทับตราล็อตวันที่การผลิต เครื่องหมาย มอก. และส่งต่อไปที่โซนบรรจุสินค้า ซึ่งที่นี่ ใช้หุ่นยนต์แขนกลมาช่วยบรรจุสินค้า


โดยหุ่นยนต์ จะจับกระเบื้องให้เป็นชุด ๆ แล้วรัดด้วยสายรัดให้แน่น จากนั้นจะถูกยกเรียงบนพาเลตทีละชุด แล้วพันด้วยพลาสติกใสอีกรอบ ซึ่งสามารถเรียงซ้อนกันได้ 2 ชั้นหรือ 3 ชั้น ตามความต้องการด้านการขนส่งของลูกค้า ที่สำคัญหุ่นยนต์เหล่านี้ยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัย ลดความสูญเสี่ย เพราะมีระบบ IoT (Internet of Things) เข้ามาเสริมและติดตาม หากเครื่องจักรมีปัญหา ซึ่งบริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชรมีหุ่นยนต์กว่า 23 ตัว ที่เข้ามาช่วยการทำงานของ เจ้าหน้าที่


“แน่นอนครับ คุณภาพความสม่ำเสมอ หุ่นยนต์จะได้เปรียบกว่า และการใช้หุ่นยนต์รูปแบบการแพ็กส่งต่างประเทศอาจจะมีความต้องการลูกค้าอีกแบบหนึ่ง ส่งโครงการอาจจะมีอีกแบบหนึ่ง บางที่ต้องการแพ็กแบบ 2 ชั้น บางที่ต้องการ 3 ชั้น ขึ้นอยู่กับระยะทางขนส่งแล้วก็ต้นทุนโลจิสติกส์ ก็จะมีส่วนหนึ่งที่โปรแกรมเหล่านี้จะถูกโปรแกรมไว้ เพื่อการันตีว่าสินค้านี้ เมื่อถึงมือลูกค้าแล้ว จะต้องมีคุณภาพและลดการแตกเสียหาย” คุณสุนทร กล่าว 


ไลน์การผลิตโครงหลังคาสำเร็จรูป 


โรงงานแห่งใหม่ของบริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร นอกจากจะผลิตกระเบื้องหลังคาแล้ว ยังผลิตโครงหลังคาสำเร็จรูป ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมในปัจจุบันสำหรับการก่อสร้างสมัยใหม่ที่ต้องการควบคุมเวลาการก่อสร้างที่แม่นยำ บอกลาข้อจำกัดของโครงหลังคาแบบเดิม ๆ ที่ปกติเราจะเห็นช่างเอาเหล็กสีดำไปตัดไปเชื่อมบนหลังคา ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เพราะต้องทาสีกันสนิม ต้องเชื่อม รวมถึงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากฝีมือแรงงานคน ซึ่งปัจจุบันช่างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้หาได้ค่อนข้างยาก


คุณสุนทร อธิบายว่า “เมื่อลูกค้าเองมีบ้านหนึ่งหลัง เราก็จะเข้าโปรแกรมการถอดแบบ จะคำนวณแบบและโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูปทั้งหมด แล้วก็ตัดให้ขนาดพอดี พอส่งไปถึงหน้างาน ช่างสามารถประกอบตามแบบได้ โดยไม่ต้องมาเสียเวลาตัด เสียเวลาทาสี เสียเวลาเชื่อม พอใส่โครงหลังคาสำเร็จรูปที่ติดตั้งตามแบบแล้ว 2-3 วัน อีก 2-3 วัน ช่างก็ติดหลังคาได้เลย กล่าวคือใน 5 วัน เราสามารถทำหลังคาบ้านสำเร็จเลย ซึ่งหากเทียบกับการสร้างบ้านแบบเดิม จะใช้เวลาในการติดตั้งหลังคานานกว่า 15 วัน”


สำหรับกระบวนการผลิตโครงหลังคาสำเร็จรูปของบริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร เริ่มจากนำวัตถุดิบประเภทคอยล์ (Coil) มาแล้ว ส่งเข้าในตัวเครื่องที่เรียกว่าเครื่องผลิต Truss จากนั้นจะผ่านการเจาะหรือบาก พับขึ้นรูปโดยลูกกลิ้ง เข้าสู่การพิมพ์รายละเอียด นับและตัด ซึ่งความยาวของชิ้นงานจะถูกกำหนดโดยโปรแกรมไว้ล่วงหน้า 


นอกจากนี้บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร ยังผลิตอะเส (Beam) หรือตัวฐานล่างของโครงหลังคา เป็นสินค้าใหม่ที่บริษัทผลิตได้เอง ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้สามารถบอกได้เลยว่า บ้านหลังนี้เราจะใช้เวลาขึ้นโครงหลังคา ติดตั้งหลังคา มุงหลังคา ไม่เกิน 1 สัปดาห์ มันก็จะทำให้แผนการก่อสร้างดำเนินได้อย่างแม่นยำแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ต้องการด้วยระยะเวลาสั้น ๆ รวมใช้แรงงานน้อย 


การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน


โรงงานแห่งใหม่ของบริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร อยู่บนพื้นฐานของการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน เช่น มีระบบดูกลิ่น มีระบบกำจัดน้ำเสีย และมีระบบกำจัดฝุ่น โดยมีนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งใช้เป็นกลยุทธ์ มีการคำนึงถึงการจัดการด้านทรัพยากร ที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy เศษวัสดุต่างๆ สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ มีการประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง เช่น climate change รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใช้เป็นกลยุทธ์ จึงกำหนดกระบวนการต่าง ๆ


นอกจากนี้กระเบื้องตราเพชร ยังนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาส่งเสริมนโยบายความยั่งยืน ที่ในอนาคตอาจจะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูงขึ้น ไปจนถึงมีการใช้ระบบจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System 


ซึ่งจากนโยบายที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทได้รับการจัดอันดับจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดอันดับจาก SET ว่าเป็นองค์กรที่สะท้อนเป้าหมายความยั่งยืน ปี 2023 ในระดับ AA คะแนนประเมินรวมกว่า 80 คะแนน


อีกทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการนำ AI มาจับของเสียที่อยู่ในกระบวนการ ให้ AI เรียนรู้และจดจำตำหนิกระเบื้องแต่ละแผ่น และให้ AI ตรวจจับสินค้าก่อนส่งมอบให้ลูกค้า โดยสินค้าเหล่านี้จะต้องไม่หลุดไปถึงมือลูกค้าหรือท้องตลาดอย่างแน่นอน 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง