รีเซต

ศูนย์ทนายฯ ชำแหละเหตุการณ์ 1 เดือน หลัง 14 ตุลาฯ ชี้คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผิด ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินพุ่ง

ศูนย์ทนายฯ ชำแหละเหตุการณ์ 1 เดือน หลัง 14 ตุลาฯ ชี้คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผิด ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินพุ่ง
มติชน
15 พฤศจิกายน 2563 ( 14:44 )
76
ศูนย์ทนายฯ ชำแหละเหตุการณ์ 1 เดือน หลัง 14 ตุลาฯ ชี้คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผิด ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินพุ่ง

นับตั้งแต่ “คณะราษฎร 2563” ประกาศชุมนุมค้างคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก 2.รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

 

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ “สลายชุมนุม” ในช่วงรุ่งสาง

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา การจัดการชุมนุมได้ทวีความเข้มข้นพอๆ กับ “การปราบปราม” โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 2 วัน กล่าวคือการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกปทุมวัน มีการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างล้นหลาม

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกรายงาน 1 เดือนหลัง 14 ตุลา: คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 175 คน ข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พุ่ง โดยระบุว่า แม้จะมีสถิติการดำเนินคดีที่เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม แต่สถานการณ์การจับกุมและออกหมายเรียกในหลายคดีพบว่าเป็นกรณีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นย้อนหลังไป โดยพบว่ามีอย่างน้อย 19 คดี ที่เป็นกรณีการชุมนุมตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน และเพิ่งถูกจับกุมตามหมายจับที่ออกมาก่อนหน้า หรือเพิ่งถูกออกหมายเรียกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

ขณะที่การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 63 เป็นต้นมา พบว่า เจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 33 คดี โดยการชุมนุมทั้งเล็กและใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มจะถูกกล่าวหาดำเนินคดีมากกว่า ขณะที่ในต่างจังหวัดยังมีรายงานการดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง

 

ในจำนวนคดีทางการเมืองเหล่านี้ ยังพิจารณาในประเด็นต่างๆ ได้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1.ศาลในพื้นที่ต่างๆ มีการออกหมายจับในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมไปแล้ว อย่างน้อย 81 หมายจับ

2.ช่วงเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังมีการจับกุมในสถานที่ชุมนุม โดยไม่ได้มีหมายจับ จำนวนอย่างน้อย 56 ราย

3.ในจำนวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวนอย่างน้อย 46 คน ใน 14 คดี

4.ในจำนวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมด มีผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 134 คน ใน 35 คดี


5.คดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 10 คดี และมีคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 8 คดี

6.จากคดีการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด 75 คดี พบว่าเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างน้อย 18 จังหวัด โดยเป็นคดีในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลรวมกันอย่างน้อย 46 คดี

7.แกนนำนักศึกษาและนักกิจกรรม มีแนวโน้มที่จะถูกกล่าวหาในคดีจำนวนมาก และยังถูกจับกุมคุมขังเป็นระยะ ทำให้แต่ละคนมีภาระต้องต่อสู้คดี และต้องรายงานตัวตามกระบวนการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

และ 8.ลักษณะการดำเนินคดี นอกจากการมุ่งดำเนินคดีกับแกนนำหลักอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีลักษณะการเลือก “บุคคลที่เป็นเป้าหมาย” ซึ่งอยู่ในข้อมูลการจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐมากล่าวหาดำเนินคดี

 

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

อ่านฉบับเต็ม 1 เดือนหลัง 14 ตุลา: คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 175 คน ข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พุ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง