รีเซต

5 เหตุการณ์ระบบไอทีล่มครั้งใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

5 เหตุการณ์ระบบไอทีล่มครั้งใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2567 ( 21:18 )
54

เหตุขัดข้องทางเทคโนโลยี (Tech Outage) ที่เกิดขึ้นบนระบบปฏิบัติการณ์วินโดวส์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) โดยมีสาเหตุมาจากการอัปเดตระบบของ คราวด์สไตรค์ (CrowdStirke) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2024 ได้ส่งผลกระทบสืบเนื่องไปยังหลายภาคส่วนทั่วโลก เช่น สายการบินต่าง ๆ ระงับเที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก หรือสถานีโทรทัศน์หลายแห่งงดออกอากาศ ในขณะที่ธนาคาร โรงพยาบาล ก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุการณ์ของเหตุเทคโนโลยีขัดข้องเท่านั้น วันนี้เราจะพามาดูว่า เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่การขัดข้องของเทคโนโลยีทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีอะไรบ้าง 


1. สายการบิน British Airway (2017)

ในเดือนพฤษภาคม 2017 ระบบคอมพิวเตอร์ของสายการบินสัญชาติอังกฤษอย่าง บริติช แอร์เวย์ (British Airway) เกิดขัดข้อง ซึ่งบริษัทแม่อย่างอินเทอร์เนชันแนล แอร์ไลน์ กรุ๊ป (International Airlines Group) ก็ได้ออกมาอธิบายว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ คือ ผู้รับเหมาบำรุงรักษาได้บังเอิญปิดแหล่งจ่ายไฟ ที่จ่ายไปยังศูนย์ข้อมูลของบริษัท ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เกิดรีบูท และทำให้ทั้งระบบถูกปิดลง เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้โดยสารประมาณ 75,000 คน ติดอยู่ที่สนามบินฮีทโธรว์ และสนามบินแกตวิคในกรุงลอนดอน รวมถึงบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยประมาณ 61 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท ตามกฎระเบียบของสหภายุโรป (EU) ไม่รวมเงินที่ต้องจ่ายให้กับผู้โดยสาร สำหรับที่พักโรงแรม และอื่น ๆ 


2. บริษัทเทคโนโลยี Alphabet (2020)

วันที่ 14 ธันวาคม 2020 บริการหลายอย่างของกูเกิล เช่น ยูทูบ (Youtube) จีเมล (Gmail) หรือ กูเกิล ไดรฟ์ (Google Drive) เกิดเหตุขัดข้องประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งตัวแทนของกูเกิลก็ออกมาเผยว่าสาเหตุเกิดจากระบบยืนยันตัวตน หรือ Authentication System ของกูเกิลหยุดทำงาน เนื่องจากปัญหาโควต้าของแหล่งจัดเก็บข้อมูล จึงทำให้บริการต่าง ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ 


ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทั่วโลกหลายล้านคน ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมส่วนตัวและงานได้ ทั้งนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าความเสียหายของกูเกิล แต่โดยเว็บไซต์เทคเรดาร์ (Techradar) คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงนี้ ทำให้เฉพาะแพลตฟอร์มยูทูบเพียงอย่างเดียว สูญเสียทรัพย์สินไปประมาณ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์จากรายได้ของโฆษณารายวัน


3. บริษัทผู้ให้บริการคลาวน์ Fastly (2021)

เดือนมิถุนายน 2021 เว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาล ข่าว และเว็บไซต์โซเชียลมีเดียทั่วโลกหลายพันแห่งเกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานคลาวน์ของบริษัทผู้ให้บริการคลาวน์สัญชาติสหรัฐฯ อย่าง ฟาสท์ลี่ (Fastly) ซึ่งซอฟต์แวร์เกิดมีปัญหา ส่งผลให้บริษัทที่มียอดเข้าชมสูง (High-Traffic) เช่น เรดดิต (Reddit) แอมะซอน (Amazon) ซีเอ็นเอ็น (CNN) เพย์พอล (PayPal) เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (the New York Times) ฯลฯ ไม่สามารถใช้งานได้ เหตุการณ์นี้ไม่มีเปิดเผลมูลค่าความเสียหาย


4. Facebook และแพลตฟอร์มของ Meta (2021)

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ตุลาคม 2021 เฟซบุ๊ก (Facebook) และโซเชียลมีเดียที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่เมต้า (Meta) อื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลาประมาณ 6 - 7 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้มากกว่า 3,500 ล้านคนทั่วโลก โดยสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ คือ วิศวกรคนหนึ่งกำหนดค่า Facebook ผิดพลาด ทำให้เราเตอร์แกนหลักตัดการเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลของ Facebook จากนั้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบชื่อโดเมน (Domain Name System : DNS หรือก็คือการแปลงภาษาที่มนุษย์อ่านได้ไปเป็นตัวเลข IP Address) และ Border Gateway Protocol (BGP หรือก็คือโปรโตคอลที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่าย) ทำให้เหมือนกับว่าในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่มี Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของเมตาอยู่แล้ว 


เหตุการณ์นี้ทำให้ยอดรายงานปัญหาการใช้งาน Facebook สูงถึง 10.6 ล้านครั้ง ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามการหยุดทำงานของระบบอย่าง ดาวน์ดีเท็กเตอร์ (Downdetector) ถือเป็นยอดรายงานปัญหาสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Facebook และในเหตุการณ์เดียวกันหุ้นของเมตาลดลง 4.9% ซึ่งส่งผลให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของเมตา ที่ถือหุ้นของเมตาด้วย ทรัพย์สินลดลงประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.15 แสนล้านบาท 


5. โซเชียลมีเดีย Twitter (X) (2022)

วันที่ 28 ธันวาคม 2022 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเอ็กซ์ (X) ประสบปัญหาขัดข้องครั้งใหญ่ ทำให้ผู้ใช้หลายหมื่นราย ไม่สามารถเข้าสู่ระบบและใช้ฟีเชอร์หลักของทวิตเตอร์ได้นานหลายชั่วโมง ในช่วงพีคของปัญหา มีการรายงานบนเว็บไซต์ DownDetector หลายหมื่นครั้ง โดยมาจากสหรัฐประมาณ 10,000 ครั้ง มาจากญี่ปุ่น 2,500 ครั้ง และมาจากสหราชอาณาจักร 2,500 ครั้ง


เหตุการณ์นี้ยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุอย่างเป็นทางการโดยทวิตเตอร์ แต่มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายแหล่งว่าอาจจะเป็นเพราะอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งเพิ่งเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ทำการเปลี่ยนโครงสร้างเซิร์ฟเวอร์เบื้องหลังของทวิตเตอร์ จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาได้


ที่มาข้อมูล Reuters

ที่มารูปภาพ Reuters, Fastly

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง