รีเซต

กล้ากินไหม ? "ไอศกรีมพลาสติก" ถ้วยแรกของโลก

กล้ากินไหม ? "ไอศกรีมพลาสติก" ถ้วยแรกของโลก
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2566 ( 12:55 )
103
กล้ากินไหม ? "ไอศกรีมพลาสติก" ถ้วยแรกของโลก

นักศึกษาปริญญาโทในสหราชอาณาจักร ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ สร้างผลงานไอศกรีมวานิลลาถ้วยแรกบนโลกที่ทำขึ้นจากขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และการปนเปื้อนของขยะพลาสติกในอาหาร อันเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้น


ภาพจากรอยเตอร์

ไอศกรีมพลาสติกนี้ จริง ๆ แล้วเป็นผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า Guilty Flavours สร้างสรรค์โดย อีเลโนรา ออร์โทลานี (Eleanora Ortolani)  นักศึกษาปริญญาโทวัย 27 ปี จาก Central Saint Martins College of Art ในสหราชอาณาจักร โดยเธอเล่าว่าแรงบันดาลใจของงานนี้ มาจากความรู้สึกหงุดหงิดใจของเธอเอง ที่เห็นผลิตภัณฑ์จำนวนมากในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลก็จริง แต่กลับใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้าไป ทำให้สุดท้ายแล้วพลาสติกเหล่านั้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก 


เธอจึงคิดเล่น ๆ ว่าหรือมนุษย์เราจะต้องกินมันเข้าไป เพื่อจะได้กำจัดพลาสติกเหล่านั้นไปได้หมดจด ด้วยไอเดียนี้ เธอจึงได้ติดต่อนักวิทยาศาสตร์ เพื่อลองหาวิธีการทำอาหารจากพลาสติกดู โดยได้เลือกใช้พลาสติก PET แบบเดียวกับที่ผลิตขวดน้ำพลาสติก มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น



ภาพจากรอยเตอร์

 


และในที่สุด เธอก็ได้ทีมนักวิทยาศาสตร์ฝีมือดี นำโดย ดร.โจอันนา แซดเลอร์ (Dr Joanna Sadler) นักเทคโนโลยีชีวภาพจาก University of Edinburgh ผู้ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการย่อยสลายพลาสติกและเปลี่ยนให้มันกลายเป็นวานิลลิน (vanillin) หรือโมเลกุลที่ให้กลิ่นวานิลลา มาสานฝันการสร้างอาหารจากพลาสติกให้เป็นจริง


โดย ดร. แซดเลอร์ อธิบายว่าปกติแล้วพลาสติก จะประกอบด้วยโมเลกุลหลายสายที่เกาะติดกันเป็นโพลีเมอร์ ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการใช้เอนไซม์และแบคทีเรีย เข้ามาสลายพันธะเหล่านั้นในโครงสร้างของพลาสติก และสังเคราะห์ให้มันกลายเป็นวานิลลินได้สำเร็จ ก่อนจะนำผลลัพธ์ที่ได้นี้ ไปขึ้นรูปให้คล้ายกับก้อนไอศกรีม



ภาพจากรอยเตอร์

 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาหน้าตาน่ากิน คล้ายกับไอศกรีมวานิลลาจริง ๆ มากขนาดไหน แต่จนปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้มีใครลองชิมสารชนิดนี้ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และทางทีมผู้พัฒนายังย้ำชัดว่าไอศกรีมพลาสติกนี้ ยังเป็นเพียงแค่ผลงานวิจัยสำหรับการแสดงศิลปะเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์กินได้จริงในตอนนี้



ภาพจากรอยเตอร์

 


ปัจจุบัน Guilty Flavours จึงยังเป็นแค่ไอศกรีมที่ถูกแช่แข็งอยู่ในตู้จัดแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการ CSM Graduate Exhibition เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนที่ผ่านมาชม ได้ตระหนักและเกิดข้อถกเถียงกันถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกมากขึ้น


ข้อมูลจาก reutersconnect, dezeengraduateshowcase

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง