รีเซต

ออกมา Call Out 1 ที เสี่ยงผิดกฎหมายอะไรบ้าง!

ออกมา Call Out 1 ที เสี่ยงผิดกฎหมายอะไรบ้าง!
Ingonn
22 กรกฎาคม 2564 ( 10:51 )
661

 

เป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดีอีเอส ออกมาเตือนเหล่าดารานักแสดงที่มักใช้สื่อโซเชียลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล เข้าข่ายผิดกฎหมายตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ และเป็นการสร้างเฟคนิวส์ จนแรงกระเพื่อมนี้ส่งผลเพิ่มอีกเมื่อ "สนธิญา สวัสดี" นำหลักฐานรายชื่อดารา นักแสดง กว่า 20 ราย พร้อมหนังสือคำร้องถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และมีดารา นักร้องอย่าง มิลลิ ถูกออกหมายเรียก จนเกิดแฮชแท็ก #SAVEมิลลิ และ #ดาราcallout ขึ้น

 

 


แต่ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า Call Out คืออะไร การออกมาโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์เฉยๆ เรียกว่า Call Out หรือไม่ อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้บ้าง

 

 


รู้จักการ Call Out ที่ส่งผลต่อคนในสังคม

 

Call Out คือการแสดงจุดยืน หรือแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง คนดัง หรือประชาชนทั่วไป มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of opinion) ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Fundamental rights) ของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง แต่เมื่อผู้มีอิทธิพลทางสังคมอย่างดารา เริ่มออกมา Call Out แสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชน จึงทำให้การ Call Out เริ่มมีกฎหมายในไทย

 

 

 

Call Out ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์?


เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอความกรุณากลุ่มดารา นักแสดง รวมถึง อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา อย่าใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล พร้อมเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนด้วยความห่วงใยว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะหากโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จ สร้างข่าวปลอมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์ข้อความเท็จนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

 

 

สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์/ผ่านโซเซียล จะมีโทษ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ม.14 (3) การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ขณะเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้นำรายชื่อดารา นักแสดง กว่า 20 ราย พร้อมหนังสือคำร้อง ยื่นถึง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณี ดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียง ออกมา Call out เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นการกระทำที่ผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

 

 


ห้ามโพสต์สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นความจริง โทษ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท


ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

 

 

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้


1. การเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด (เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)

 


2. ที่มีข้อความอันอาจ

 

2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ


2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 


3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทย ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น


การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใดๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด

 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม


รายละเอียดมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27

 

 

 


วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตไม่ผิดกฎหมาย


ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กับ มาตรา 328 หรือ ‘ความผิดฐานหมิ่นประมาท’ ได้กำหนดให้การใส่ความบุคคลอื่นเพื่อให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิด แต่หากการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม หรือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 หรือ 330 การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด หรือไม่ต้องรับผิด

 

 

เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 หรือ ความผิดฐาน ‘ละเมิดต่อชื่อเสียง’ ได้กำหนดให้การแสดงความคิดเห็น หรือการไขข่าวที่ฝ่าฝืนต่อความจริง อันเป็นผลให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง หรือเสียหายในการทำมาหากินเป็นความผิด เว้นแต่ การกระทำนั้นเป็นไปเพราะไม่รู้ความจริง และทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ

 

 


ด้านผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นกรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า จะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ออกมาวิจารณ์รัฐบาล ผมเห็นว่าคำกล่าวเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจหลักกฎหมายผิดไป

 

 

หากนายชัยวุฒิเห็นว่า ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์บนฐานข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง รัฐบาล สามารถชี้แจงถึงข้อเท็จจริงทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ใช่ดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ศาลในต่างประเทศเองก็เคยมีคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา ฯลฯ รวมถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ที่เคยมีคำวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับกรณีรัฐบาลฟ้องเอกชนไว้อย่างชัดเจนว่า "องค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนบนความอดทนอดกลั้นต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ"

 

 

 

 

Call Out เสี่ยงผิดกฎหมายอะไรบ้าง


1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

 


4.ระมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 กำหนดความผิดไว้สำหรับการบอกเล่าความเท็จจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ

 


5.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3) กำหนดความผิดไว้สำหรับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ

 


6.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ข้อกำหนดฉบับที่ 27) กำหนดความผิดไว้สำหรับการนำเสนอข้อมูลที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือ บิดเบือนข้อมูลจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

 


7.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

 


8.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 


9.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

 


(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 


(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

 


(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

 


(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

 

 

 

 

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ , iLaw , Ponson Liengboonlertchai , ข่าวสด 

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง