รมว.ดิจิทัลฯ ขู่ 'ดารา-เซเลบ' call out โจมตีรัฐ แก้โควิดเหลว เฟคนิวส์ มีความผิด!
รมว.ดีอีเอส “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” เตือนเหล่าดารา และ นักแสดง รวมถึงเหล่าคนดัง อย่าใช้โซเชียลมีเดียโจมตีรัฐบาล ถือสร้างเฟคนิวส์ มีความผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ
วันนี้ (21 ก.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ขอความกรุณาสำหรับกลุ่มดารา นักแสดง รวมถึง อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา อย่าใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย
จากกรณีสถานการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีการโพสต์หรือส่งต่อข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดิจิทัลฯ พบว่ามีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ทั้งหมด 147 ราย ประกอบด้วย จากเฟซบุ๊ก 15 ราย ทวิตเตอร์ 132 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมายต่อไป
สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์/ผ่านโซเซียล จะมีโทษ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ม.14 (3) การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ท่านพูดแต่ว่าทุกวันนี้มีคนตายเป็นจำนวนมาก เพราะโควิด เนื่องจากวัคซีนไม่ดีเป็นความผิดของรัฐบาล แล้วมันจริงหรือไม่ ขอให้อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องนึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาได้จัดหาวัคซีนมาอย่างดีตามมาตรฐาน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในตอนนี้ ปัจจุบันหากมองภาพรวมในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทย ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 2 ซึ่งช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์การระบาดโควิดคลี่คลายให้เร็วที่สุด จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับภัยโควิด บนพื้นฐานความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์นี้”
อย่างไรก็ตามจึงอยากเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนด้วยความห่วงใยว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะหากโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จ สร้างข่าวปลอมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์ข้อความเท็จนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งให้มีความตระหนักในการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือกฎหมายในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด