“อาฟเตอร์ช็อก” คืออะไร? รู้จักแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว เกิดขึ้นแล้ว 200 กว่าครั้ง

กรมอุตุนิยมวิทยาเผย ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 200 ครั้งในพื้นที่ประเทศเมียนมา โดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
สำหรับ อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) หรือ "แผ่นดินไหวตาม" ตามพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลังจากแผ่นดินไหวหลัก อาจเกิดขึ้นทันทีในไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายเดือน โดยขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหวหลัก จุดศูนย์กลาง และลักษณะของรอยเลื่อน
เมื่อแผ่นดินไหวใหญ่เกิดขึ้น เปลือกโลกและหินใต้ผิวโลกบริเวณโดยรอบจะเกิดการเคลื่อนตัว และเมื่อแผ่นดินไหวสิ้นสุดลง เปลือกโลกจะพยายามปรับตัวกลับสู่สมดุล ส่งผลให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะ จนกว่าความเครียดของเปลือกโลกจะคลี่คลาย
ตาม "กฎของกูเตนเบิร์ก-ริกเตอร์" (Gutenberg–Richter law) หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 จำนวน 1 ครั้ง จะมีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 5.0 ประมาณ 10 ครั้ง ขนาด 4.0 ประมาณ 100 ครั้ง ขนาด 3.0 ประมาณ 1,000 ครั้ง และต่ำกว่า 3.0 กว่า 10,000 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่สามารถรับรู้ได้
ระดับของแผ่นดินไหวสามารถแบ่งได้ดังนี้:
- 1.0 - 2.9 : สั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนบางส่วนอาจรู้สึกเวียนศีรษะ
- 3.0 - 3.9 : ผู้ที่อยู่ในอาคารอาจรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน
- 4.0 - 4.9 : การสั่นไหวปานกลาง วัตถุแขวนอาจแกว่งไกว
- 5.0 - 5.9 : สั่นไหวรุนแรง เครื่องเรือนและวัตถุเริ่มเคลื่อนที่
- 6.0 - 6.9 : อาคารเริ่มเสียหาย พังทลายบางส่วน
- 7.0 ขึ้นไป : สั่นไหวรุนแรง อาคารเสียหายหนัก แผ่นดินแยก
การรับมือกับอาฟเตอร์ช็อกมีดังนี้ หากอยู่ในอาคาร ควรสำรวจทางหนีภัย หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ และหาที่กำบังที่มั่นคง เช่น ใต้โต๊ะ แต่หากอยู่นอกอาคาร ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า ต้นไม้ และสิ่งของที่อาจหล่นลงมา รวมถึงควรจัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน พร้อมไฟฉาย วิทยุ แบตสำรอง น้ำดื่ม อาหารแห้ง ยา และเอกสารสำคัญ และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานทางการ และหลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
แม้ว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่กรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น