จีนสร้างวงแหวนกล้องโทรทรรศน์ ศึกษาการปะทุบนดวงอาทิตย์
ประเทศจีนกำลังก่อสร้างวงแหวนกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีชื่อว่า “กล้องโทรทรรศน์วิทยุโซลาร์ดาวฉาง หรือ The Daocheng Solar Radio Telescope (DSRT)” ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
เมื่อก่อสร้างสำเร็จ วงแหวนนี้จะประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 19.7 ฟุต หรือ 6 เมตร และมีเส้นรอบวง 1.95 ไมล์ หรือ 3.14 กิโลเมตร ทั้งหมด 313 ใบ โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปลายปีนี้ จากการรายงานของเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (South China Morning Post)
ซึ่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุนี้จะทำการจับคลื่นวิทยุจากดวงอาทิตย์ เพื่อทำการศึกษาการปลดปล่อยมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejections หรือ CMEs) ของดวงอาทิตย์ อันเป็นการปะทุของอนุภาคที่มีประจุขนาดใหญ่จากชั้นโคโรนา ชั้นบรรยากาศชั้นบนของดวงอาทิตย์
โดยการปลดปล่อยมวลโคโรนามีความสัมพันธ์กับวัฏจักรการเกิดของจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) หรือที่เรียกว่าวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) ซึ่ง 1 รอบของวัฏจักรสุริยะมีคาบหรือระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ปี
ซึ่งการปลดปล่อยมวลโคโรนามีอิทธิพลต่อการเกิดแสงออโรรา บริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ เนื่องจากการปลดปล่อยมวลโคโรนานั้นหมายถึงการปลดปล่อยอนุภาคอิเล็กตรอน, โปรตอน หรือไอออนอื่น ๆ ที่มีพลังงานสูง เมื่ออนุภาคเหล่านี้ชนเข้ากับโมเลกุลของก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศโลก มันจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่เราสามารถมองเห็นได้นั่นเอง
ในทางกลับกัน การปลดปล่อยมวลโคโรนานี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับโครงข่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า, การโทรคมนาคม, การโคจรของดาวเทียม และแม้กระทั่งทำให้ความปลอดภัยของนักบินอวกาศตกอยู่ในความเสี่ยง
ไม่เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์จีน แต่นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกจึงจำเป็นที่จำต้องศึกษาพฤติกรรมการปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ เพื่อเฝ้าระวังและวางแผนรับมือ
ข้อมูลจาก www.space.com
ภาพจาก in.topnews.media และ www.esa.int