สมาพันธ์เอสเอ็มอี แนะ 5 ข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไข สู้วิกฤตของแพง
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเรื่องต้นทุนและค่าครองชีพนั้น กำลังส่งสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ต้นแต่กลุ่มธุรกิจต้นน้ำ อาทิ ภาคการเกษตร ซึ่งราคาอาหารสัตว์ ราคาปุ๋ย ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ รวมถึงค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิงต่างๆ ล้วนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตและการแปรรูปสูงขึ้น และส่งผลกระทบค่าครองชีพของแรงงานด้วย ซึ่งราคาสินค้าที่แพงขึ้น ก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลทั้งผู้ประกอบการและประชาชน
ดังนั้นสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงอยากเสนอในรัฐบาลทบทวนข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ทบทวนมาตรการสนับสนุนใน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในระบบเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ไทย เอสเอ็มอี-จีพี) ไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณอีกครั้ง ที่ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ยกเลิกระเบียบไปแล้ว และเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 50% ในส่วนนี้สามารถช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้มากขึ้น และมีรายได้จากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ได้เผยผลสำรวจแล้วว่า ที่ผ่านมามาตรการนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างเอสเอสเอ็มถึง 44% ซึ่งสูงกว่าที่กำหนด
2.นโยบายการสนุนสนุนการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ถ้าหากรัฐบาลช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้โดยเร็ว จะสามารถช่วยในเรื่องลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้ รวมทั้งยังช่วย ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ให้สอดรับการนโยบายส่งเสริมการใช้พลงงานสะอาด และรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
3.คือการเร่งมาตรการการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยการที่รัฐบาลสนับสนุนทั้งส่วนที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี และนอกจากจะส่งเสริมการซื้อรถอีวีนำเข้าแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยทั้งที่ผลิตรถยนต์แบบเดิม หรือที่เกี่ยวข้องในทุกด้าน ไม่ว่าจะชิ้นส่วน การประกอบรถยนต์ หรือแม้แต่การสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอี เข้าร่วมมาตรการส่งเสริม เพื่อให้ปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถอีวีในอนาคต
4.มาตรการสวัสดิการแรงงาน โดยรัฐบาลช่วยลดภาระค่าครองชีพ ค่าอุปโภคบริภาค ให้แก่กลุ่มลูกจ้างรายวัน หรือแรงงานที่รายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งการอุดหนุนนี้จะไม่ใช่การที่รัฐบาลให้เป็นเงิน แต่จะเป็นส่วนลดพิเศษ อย่างน้อย 30% ให้แรงงานกลุ่มนี้ บรรเทาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่อุดหนุนโดยการให้เงินช่วยเหลือ รวมทั้งมองว่า โครงการคนละครึ่งนั้น กลุ่มเป้าหมายยังไม่ชัดเจน บางคนที่ดูมีฐานะก็เข้าร่วมโครงการได้ ดังนั้นจึงยังไม่ใช่โครงการที่ช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจริง
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า และ 5. แนวคิดเรื่อง เอสเอ็มอี เครดิต สกอริ่ง การ์ด ที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการได้แก้ไขปัญหนี้ ที่เป็นปัญหามานานตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด หรือจากสงครามในต่างประเทศ โดยสมาพันธ์ได้เรียกร้องเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ร่วมกับการแก้ไขการเข้าถึงสินเชื่อ การเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยแพลตฟอร์มการพัฒนาในระบบอย่างต่อเนื่อง โดยนำ เอสเอ็มอี เครดิต สกอริ่ง การ์ด มาเป็นวงเงินเครดิต หรือ ทุนซื้อวัตถุดิบ จ้างงาน ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีได้ เรียกร้องเรื่องนี้มานาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ ถึงแม้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนแล้ว แต่สุดท้าย ก็ให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เคลียร์กับลูกหนี้เอง ซึ่งในความเป็นจริง เจ้าหนี้กับลูกหนี้ คุยกันเองไม่มีทางที่จะตกลงกันได้ แต่ถ้าหากมีคนกลางที่มาทำหน้าที่อย่างจริงจัง ค่อยช่วยประสานและให้คำปรึกษาก็อาจจะช่วยได้มากกว่านี้” นายแสงชัย กล่าว