รีเซต

เหตุใด "กากี" เป็นสีเครื่องแบบราชการไทย เกี่ยวข้องกับ "อีกา" หรือไม่?

เหตุใด "กากี" เป็นสีเครื่องแบบราชการไทย เกี่ยวข้องกับ "อีกา" หรือไม่?
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2567 ( 15:23 )
31

หากกล่าวถึง “กากี” เชื่อได้เลยว่าภาพที่เด้งขึ้นมาในหัว ต้องเป็นเรื่องของ “ราชการ”  เพราะเครื่องแบบนั้นส่วนใหญ่เป็นสีกากี พบเห็นได้ในวันจันทร์ หรือเนื่องในโอกาสวันสำคัญของประเทศ


คำถามคือ เหตุใดเครื่องแบบราชการของไทย จึงต้องเป็นสีกากี เป็นสีอื่นได้หรือไม่? และที่สำคัญ กากีที่ว่านี้ เกี่ยวข้องอะไรกับ “อีกา” ที่มีตัวสีดำสนิทหรือไม่อย่างไร?


หลักฐานทางนิรุกติศาสตร์ (Etymology) ชี้ว่า กากีมาจากภาษาเปอร์เซีย “خاک [χɒːk]” อ่านออกเสียงว่า “กาก” หมายถึง “ดิน” ซึ่งเป็นศัพท์ที่อังกฤษยืมมาใช้อธิบายสีย้อมผ้าที่จะออกเขียวก็ไม่ใช่ ออกน้ำตาลก็ไม่เชิง สีทองก็ไม่ชัด เลยเรียกว่าสีกากี


กางเกงสีกากีเป็นที่นิยมอย่างมากในอังกฤษยุคศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะข้าราชการทหาร ที่ใส่กันมาทำงานและไปรเวท แต่ที่แพร่กระจายถึงประเทศไทยได้นั้น เพราะทหารอังกฤษที่ประจำการใน “บริทิชราช (หรือบริเวณอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน)” ใส่กันเป็นเครื่องแบบ


งานศึกษา Army Uniform and the First World War: Men in Khaki เขียนโดย เจน ไทแนน  ชี้ชัดว่า อังกฤษเรียนรู้ว่า เครื่องแบบทหารชุดแดงกางเกงขาว ไม่เหมาะกับใส่ในบริทิชราชที่มีสงครามยิบย่อย เพราะเครื่องแบบจะโดดเด่นเกินไป ดังนั้น การใส่กากีทั้งชุดจึงตอบโจทย์มากที่สุด


แน่นอน สมัยนั้นอังกฤษคือผู้นำกระแส แล้วเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสบริทิชราช ได้เห็นความอารยะอย่างการใส่เครื่องแบบ จึงนำเข้ามาใช้เป็นเครื่องแบบของข้าราชการไทย ซึ่งมาพร้อม ๆ กับการออกแบบชุด “ราชประแตน” ที่เราคุ้นเคย


ส่วนกากี เกี่ยวข้องกับอีกาหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าเป็นศัพท์ “พ้องรูป” กันเฉย ๆ ในภาษาเปอร์เซีย กาก หมายถึง ดิน แต่ในภาษาบาลี กาก หมายถึง กาตัวผู้ และกากี หมายถึง “กาตัวเมีย” 


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง