รีเซต

ส่องความก้าวหน้ายานอวกาศมุ่งสำรวจดาวต่าง ๆ |TNN Tech Reports

ส่องความก้าวหน้ายานอวกาศมุ่งสำรวจดาวต่าง ๆ |TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
7 ธันวาคม 2566 ( 16:48 )
38



ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องอวกาศเป็นอีกหนึ่งวงการที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เห็นได้จากการที่หลายประเทศพยายามพัฒนาเทคโนโลยี และตั้งเป้าหมายโครงการใหม่ ๆ เพื่อความสำเร็จในการมุ่งสู่อวกาศ รวมถึงการไปสำรวจยังดาวต่าง ๆ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาให้มนุษย์เราได้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลมากขึ้น  


อินเดียส่ง “จันทรายาน-3” ลงจอดขั่วโลกใต้ดวงจันทร์สำเร็จชาติแรก !


องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (ISRO)  ได้นำยานจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ลงจอดบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรก และทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลก ที่สามารถนำยานอวกาศแบบไร้มนุษย์อวกาศลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ถัดจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน 


สำหรับยานจันทรายาน-3 ได้ออกแบบโครงสร้างเป็น 3 ส่วนเชื่อมต่อกัน ซึ่งประกอบด้วย ยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ “วิกรม” (Vikram)  ยานรถหุ่นยนต์สำรวจโรเวอร์ “ปรายัน” (Pragyan) และยานวงโคจร “จันทรายาน-3”  ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ แอลวีเอ็มสาม (LVM-3)  จากฐานปล่อยจรวดเมืองศรีฮาริโกตา บนชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย


 ซึ่งภายหลังจากยานเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ทีมงานบนโลกได้ทำการกำหนดให้ยานจันทรายาน-3 ฝึกซ้อมกระบวนการลงจอดหลายครั้งเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ 150 กิโลเมตร เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนทำการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และในที่สุดก็สามารถลงจอดได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา


โดยเป้าหมายของภารกิจหลังลงจอดบนดวงจันทร์ องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เตรียมนำรถสำรวจปรายาน (Pragyan) ซึ่งรถสำรวจขนาดเล็กพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนตัวออกจากยาน เพื่อวิ่งสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์และเก็บข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ส่งกลับมายังโลก


และนอกจากนี้การสำรวจดวงจันทร์แล้ว อินเดียยังเดินหน้าสู่การสำรวจดวงอาทิตย์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับลมสุริยะ และชั้นบรรยากาศโดยรอบ ด้วยการส่งยาน อาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาด้วย


NASA ทดสอบเครื่องยนต์จรวดไปดาวอังคาร


สำหรับดาวอังคาร เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการสำรวจด้านอวกาศของนาซา ซึ่งความท้าทายอยู่ที่การหาวิธีส่งตัวอย่างหินดาวอังคาร ที่อยู่ห่างจากโลกถึง 450 ล้านกิโลเมตร ให้กลับมาถึงโลกได้อย่างสวัสดิภาพ ด้วยเหตุนี้ นาซาจึงได้สร้างจรวดรุ่นใหม่ขนาดเล็ก ที่ชื่อว่า จรวดเอ็มเอวี หรือ มาร์ส แอสเซนต์ วีหะเคิล (MAV: Mars Ascent Vehicle) เพื่อใช้ทำภารกิจรับตัวอย่างหินกลับสู่โลก


โดยได้มีการทดสอบเครื่องยนต์จรวดทั้งหมด 2 ตัว

คือ 1 เอสอาร์เอ็มวัน (SRM 1) ทดสอบโดยใช้การจำลองสภาพในห้องสูญญากาศ และใช้อุณหภูมิที่ -20 องศาเซลเซียส เหมือนกับการทำหน้าที่จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นบนดาวอังคาร เพื่อทดสอบการทำงานของเครื่องยนต์

และ 2 คือ เครื่องยนต์จรวด เอสอาร์เอ็มทู (SRM 2) ทดสอบด้วยการเพิ่มการปั่นด้วยความเร็ว 200 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการบินไปยังระดับวงโคจรของดาวอังคารด้วย โดยการทดสอบทั้ง 2 เครื่องยนต์ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี


ตามแผนงานแล้ว เมื่อเครื่องยนต์สามารถใช้งานได้ ก็จะนำไปติดตั้งและประกอบจรวด เพื่อออกเดินทางไปรับตัวอย่างหินดาวอังคารกลับมายังโลกภายในปี 2030


ญี่ปุ่นเตรียมท่องอวกาศด้วยบัลลูน


ไอเดียจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น อิวายา กิเก็น (Iwaya Giken) ได้ตั้งเป้าจะนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปท่องอวกาศด้วยบัลลูนบรรจุฮีเลียมขนาดยักษ์


ซึ่งการทดสอบล่าสุด มีการปล่อยบัลลูนพร้อมห้องโดยสาร บรรทุกวิศวกรประจำบริษัทไว้ภายใน 1 คน เมื่อบอลลูนลอยขึ้นไปที่ระดับความสูง 19,700 ฟุต หรือ 6 กิโลเมตร ทางวิศวกรก็ได้ทำการปล่อยแก๊สออกจากบอลลูน ทำให้มันค่อย ๆ ลอยต่ำลง โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็ตกลงสู่พื้นได้สำเร็จ โดยลงจอดห่างจากจุดปล่อยเดิม 26 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทหวังว่าจะสามารถปล่อยบอลลูนให้สูงถึงระดับ 82,021 ฟุต หรือ 25 กิโลเมตรเหนือพื้นดินให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในสิ้นปีนี้


ส่วนห้องโดยสารที่ใช้จริงจะเป็นห้องโดยสารสูญญากาศทรงกลมรองรับได้ 2 ที่นั่ง ออกแบบให้สามารถรับชมวิวได้แบบ 360 องศาผ่านหน้าต่างหลายบานรอบตัว และมีความปลอดภัยมากที่สุด เช่น ระบบรักษาอุณหภูมิ ระบบลดแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสาร


และถึงแม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็น “บัลลูนท่องอวกาศ” แต่ความสูงที่บอลลูนและตัวห้องโดยสารจะสามารถเดินทางไปถึงได้จริงนั้น จะยังอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก คือ 25 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ถ้าเป็นระดับชั้นอวกาศ จะต้องอยู่ที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป  แต่คอนเซ็ปต์ของบริษัทก็คือพานักท่องเที่ยวไปชมขอบฟ้าและใกล้อวกาศมากที่สุดนั่นเอง


โดยตั้งเป้าเริ่มเที่ยวบินแรกในเดือนมีนาคมปี 2024 ราคาค่าตั๋วของบริการนี้ จะอยู่ที่คนละ 164,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 5,800,000 บาท


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง