รีเซต

ลูกจ้างโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี พ้อ เหมือนถูกมัดมือชก ร่ำไห้ปรับทุกข์ ได้ค่าชดเชยน้อย

ลูกจ้างโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี พ้อ เหมือนถูกมัดมือชก ร่ำไห้ปรับทุกข์ ได้ค่าชดเชยน้อย
มติชน
10 มิถุนายน 2564 ( 17:26 )
262

 

ข่าววันนี้ 10 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเริ่มมีพนักงาน-ลูกจ้าง ของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ออกมาจับกลุ่มปรับทุกข์ หลังจากผู้ลงทุนจาก “ญี่ปุ่น” ประกาศปิดโรงงานแบบสายฟ้าแลบ ไปเมื่อ 8 มิ.ย.64 ปิดตำนาน “58ปี ซิบาโต้” หรือ “84ปี น้ำตาลกุมภวาปี” โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้ามาก่อน ทำให้พนักงาน-ลูกจ้างกว่า 280 คน ต้องพ้นสภาพการทำงาน 3 ก.ค.นี้ แม้ว่าโรงงานจะชดเชย ให้ผู้สมัครใจลาออก มากกว่ากฎหมายกำหนด ก็กำลังถูกมองว่าผู้มีฐานเงินเดือนสูง และอายุงานมาก ๆ จะพอใจ แต่ผู้มีฐานเงินเดือนน้อย และอายุงานน้อย กำลังมีปัญหาไม่มีทางออก

 

กลุ่มพนักงาน-ลูกจ้าง ที่มีฐานเงินเดือนและอายุงานระดับกลาง คือ 11,000-15,000 บาท อายุงาน 3-10 ปี ร่วมกันเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า การปิดกิจการเลิกจ้างครั้งนี้ ผู้ลงทุนไม่มีความเป็นธรรม แอบซุ่มทำกันแบบเงียบๆ ตั้งใจจะมาบอกเรา 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้คิด ได้ตั้งหลักหางานใหม่ทำไว้ก่อน หลายคนมารู้ก่อน 1-2 วัน จากเอกสารโรงงานขอกำลังตำรวจ ทำให้ต้องแยกสถานที่ประชุมเป็น 6 จุด เอากำลังตำรวจมาคุม มีชายชุดดำจากไหนก็ไม่รู้ ไม่มีช่องให้เราได้พูด วันนั้นเหมือนเราถูกมัดมือชก น่าจะมีช่องทางให้เลือกมากกว่านี้

 

“ค่าชดเชยที่บอกว่ามากกว่ากฎหมาย มันไม่ได้สวยหรูเลิศเลอสำหรับทุกคน ตั้งแต่วันประกาศปิดโรงงาน ก็ต้องนอนร้องไห้กันทุกคืน อยู่บ้านคนเดียวก็ไม่ได้มันฟุ้งซ่าน ต้องออกมารวมกลุ่มกันตามบ้านเพื่อน พากันร้องไห้ปรับทุกข์ คนที่ได้ชดเชยน้อยไปต่อไม่ได้ เช่น เงินเดือน 9,500 บาท (320บาท/วัน) อายุงาน 1 ปี จะได้ชดเชย 90 วัน รวมเงิน 28,800 บาท หรือถ้าอายุงาน 3 ปี ชดเชย 165 วัน รวมเงิน 52,800 บาท จะเอาไปลงทุนทำอะไรได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเลย บางคนอายุมาก เกินกว่า 40 ปีจะไปเริ่มที่ไหนได้ ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 จะหางานใหม่ได้ยังไง”

 

กลุ่มพนักงาน-ลูกจ้าง กลุ่มเดียวกัน เรียกร้องให้ทางราชการ ส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยเก็บข้อมูล จากพนักงานลูกจ้างทั้งหมด เพื่อรับรู้ปัญหาจริง ๆ เพราะไม่มีใครกล้าทวงถาม ซึ่งปัญหาที่พอเห็นตอนนี้ อันดับแรก บ้านพักพนักงาน 85 ห้อง ส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว หากไม่เข้าร่วมโครงการ ต้องย้ายออกสิ้น ก.ค.นี้ หากเข้าร่วมโครงการต้องย้ายออกสิ้น ส.ค.นี้ บางครอบครัวอยู่มานับสิบ ๆ ปี, เรื่องหนี้สินที่อยู่กับ สหกรณ์โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และกองทุนเพื่อการศึกษาบุตร-พนักงาน หากมีการหักหนี้เงินชดเชยก็จะไม่เหลือ

 

 

 

 

ขณะบรรยากาศโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี เงียบเมื่อไม่มีพนักงานเหมือนทุกวัน ถนนที่ก่อนนี้จะมีรถของโรงงานหมุนเวียนเข้าออก หรือรถของผู้มาติดต่อ หลังจากโรงงานน้ำตาลปิดตัวลง ขณะที่มีร้านขายไก่ย่างส้มตำ ที่อยู่ใกล้โรงงานซึ่งเป็นร้านค้าชุมชน ที่ทางโรงงานน้ำตาลได้สร้างขึ้น มาให้ชาวบ้านมาเช่าเปิดร้านขายของ ขายอาหาร ทุกวันจะมีพนักงานของโรงงาน มาหาซื้ออาหารไปกินในโรงงาน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเที่ยง หรือมีการโทรศัพท์สั่งซื้อ แล้วออกมานำอาหารไปกินในโรงงาน มาวันนี้เมื่อโรงงานน้ำตาลปิดตัวลงไป ร้านค้าร้านอาหารที่เคยมีคนงานมาใช้บริการก็เงียบลงไป

 

นางสุภารัตน์ โภคาพาณิชย์ อายุ 48 ปี แม่ค้าร้านไก่ย่างส้มตำ เปิดเผยว่า ไม่รู้เรื่องโรงน้ำตาลฯจะปิดมาก่อน รู้แต่ว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการติดป้ายประกาศขึ้นบอร์ด และพนักงานก็มาพูดคุยกัน บอกว่าโรงงานจะปิด เราถามว่า อ้าวแล้วโรงงานจะปิดแบบไหน เขาก็บอกว่าปิดเลย เท่ากับไม่มีใครที่รู้ล่วงหน้าเลย รู้สึกใจหาย เพราะเราค้าขายให้คนงานมาตลอด ถ้าไม่ออกมาซื้อที่ร้านเอง เขาก็จะโทรศัพท์มาสั่งส้มตำเอาไปกินกัน คนไหนจะประหยัด มีเงินน้อยเขาก็ซื้อน้อย แล้วแต่เงินเดือนเขาได้มากหรือน้อย ส่วนใหญ่เขาจะห่อข้าวมากิน แล้วมาซื้อกับข้าวถุงๆละ 10-20 บาท ไปกิน

 

นางสุภารัตน์ บอกอีกว่า ทุกวันคนงานมาซื้อของแถวนี้ทุกร้าน ทั้งร้านข้าวมันไก่ที่ใส่กล่อง เขาก็จะมาซื้อไปกินสลับร้านกันไป เมื่อโรงงานน้ำตาลปิด ร้านคงได้รับผลกระทบ วันนี้ก็ลดของเอามาขายลง เช้าๆคนรงานจะมาซื้ออาหารถุงหมดทุกวัน ไม่เหลือมากเหมือนวันนี้ ไหนจะเจอเรื่องโควิด แล้วต้องมาเจอเรื่องปิดโรงงาน ทำให้เราค้าขายแย่ลง คงต้องลดของที่จะมาขายลง ร้านอาหารก็เยอะ ต่อไปคงไม่มีคนมาซื้อ เพราะคนแถวนี้เขาก็หากับข้าวกินกันเอง

 

 

 

 

ขณะที่ สนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ชี้แจงผ่านเอกสารข่าว ระบุว่า นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรณีบริษัทน้ำตาลกุมภวา จำกัด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีมติหยุดกิจการน้ำตาลอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทจะโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยไปยัง บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ที่มีกำลังการผลิตได้ถึง 30,000 ตันอ้อยต่อวัน เพื่อรองรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจาก บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด

 

นายเอกภัทร กล่าวว่า บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีชาวไร่อ้อยคู่สัญญา จำนวน 1,195 ราย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 หีบอ้อยได้ 716,862.94 ตัน และผลิตน้ำตาลได้ 82,977.23 ตัน โดยการปิดโรงงานดังกล่าวจะไม่กระทบกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ในขณะเดียวกันนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประสานไปยัง บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาช่วยเหลือแก่พนักงานประจำโรงงาน และจะดำเนินการติดตามการจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างใกล้ชิด

 

ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในช่วงเดือนตุลาคม 2564 รวมไปถึงตรวจสอบภาระหนี้ของ บริษัทฯ กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการปิดกิจการจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 แต่อย่างใด

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวปิดท้ายว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ในฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีแนวโน้มผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลของตลาดโลกจะสูงขึ้นจากในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จึงมั่นใจได้ว่าผลประกอบการโรงงานน้ำตาลอีก 56 โรงงาน จะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ถือเป็นสัญญาณที่ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง