บ้านในอนาคตอาจสร้างจากเชื้อรา วัสดุใหม่จากไมซีเลียม
จะเป็นอย่างไรหากบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ในอนาคตถูกสร้างขึ้นมาจากเชื้อรา โดยพีแอลพี แลปส์ (PLP Labs) ที่เป็นศูนย์วิจัยด้านการออกแบบได้พัฒนาคอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียม (Mycelium Bio-Composites) เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแทนวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
สำหรับไมซีเลียมนั้น มันเป็นเป็นเส้นใยจากเห็ดรา ซึ่งเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยความชื้นเป็นปัจจัยและสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทำให้มันได้รับการขนานามว่าเป็นวัสดุสีเขียวที่ดีที่สุดในโลก
การสร้างคอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียม (Mycelium Bio-Composites)
โดยทีมนักวิจัยได้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์แบบหล่อรูปทรงต่าง ๆ สำหรับใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นมาและใส่ขี้เลื่อยเข้าไป แล้วทำการฆ่าเชื้อและฉีดไมซีเลียมเข้าไปในแบบหล่อ หลังจากนั้น ไมซีเลียมจะเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มแบบหล่อและกลายเป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นและทนทาน ซึ่งสามารถขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้
สำหรับขั้นตอนสุดท้าย ทีมนักวิจัยได้ให้ความร้อนกับคอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียมและทำให้แห้ง เพื่อป้องกันให้ไมซีเลียมไม่เติบโตเพิ่มเติมไปมากกว่าที่ต้องการใช้
โดยข้อดีของคอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียมคือ มีน้ำหนักเบา, ทนไฟและมีคุณสมบัติเป็นฉนวนที่ดี นอกจากนี้มันยังสามารนำมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งแตกต่างกับวัสดุที่เป็นคอนกรีต, อะลูมิเนียมและเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน โดยวัสดุเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกถึง 23 เปอร์เซ็นต์
คอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียมแข็งแรงเทียบเท่าวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในปัจจุบันหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิสูจน์เพื่อหาค่าความแข็งแรงของคอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียมเทียบกับคอนกรีต, อะลูมิเนียมและเหล็ก ซึ่งความแข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว โดยวัสดุก่อสร้างจะต้องแข็งแรงมากพอที่จะรับแรงสั่นสะเทือนและไม่พังทลายลงมาทับผู้อยู่อาศัย
โดยในอนาคต คอมโพสิตชีวภาพไมซีเลียมอาจถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน หากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าแข็งแรงไม่แพ้วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังกำลังศึกษาเพิ่มด้วยว่าจะทำให้วัสดุดังกล่าวสามารถกันน้ำและใช้ก่อสร้างบริเวณฐานของอาคารที่ติดกับพื้นดินได้อย่างไร เนื่องจากน้ำและดินอาจทำให้ตัววัสดุชื้นจนกระตุ้นให้ไมซีเลียมเติบโต
ข้อมูลและภาพจาก PLP Labs