รีเซต

ชวนร่วมขบวนแสดงพลัง ในแคมเปญ ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี

ชวนร่วมขบวนแสดงพลัง ในแคมเปญ ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2566 ( 22:15 )
59

กรุงเทพฯ 27 มิถุนายน 2566 :  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสเอชพีวีจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันเชื้อเอชพีวีซึ่งติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสใกล้ชิด และเชื้อเอชพีวีจะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือมะเร็งต่าง ๆ ได้ในอนาคต อาทิ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ โดยโรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มความหลากหลาย ในเดือนมิถุนายนซึ่งตรงกับ PRIDE Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสมาคมมะเร็งวิทยานรีเวชไทย จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเพศหลากหลายหันมาตระหนักถึงภัยร้ายของโรคมะเร็งที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี และมาร่วมขบวนรณรงค์แสดงพลังหยุดเชื้อเอชพีวีไปด้วยกันในกิจกรรม “HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี จัดขึ้นที่ CRA HALL ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งเปิดให้รับชมผ่านทางช่อง Youtube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมส่งสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนตื่นตัว มีความรู้มีความเข้าใจ ก้าวทันโรคและป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ลดเสี่ยงมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนเอชพีวีให้มีภูมิต้านทาน สร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้ทุกความหลากหลายภายใต้พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี” โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมรณรงค์หยุดเชื้อเอชพีวีไปกับดารานักร้องสองหนุ่มคู่จิ้นสุดฟิน “บุ๋น นพณัฐ กันทะชัย” และ “เปรม วรุศ ชวลิตรุจิวงษ์” พร้อมด้วย “กร วรรณไพโรจน์” ศิลปินวง Proxie นักศึกษาแพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่อาสาร่วมขบวนหยุดเชื้อเอชพีวี มาร่วมพูดคุยส่งความห่วงใยให้กับทุกคน เพราะไม่อยากให้ทุกคนต้องพบกับการสูญเสียที่เกิดจากโรคมะเร็งเลยอยากร่วมรณรงค์ชวนกันมาป้องกันหยุดเชื้อเอชพีวี พร้อมร่วมเล่นเกมสนุกๆ สร้างรอยยิ้มและพลังใจให้กับผู้ร่วมแสดงพลัง NO HPV NO LIMIT เข้ารับวัคซีนเอชพีวีในวันงานและแฟนคลับแบบใกล้ชิดติดขอบเวทีโดยมี “ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ” รับหน้าที่พิธีกรในงาน



ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า “ในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นโอกาสอันดีซึ่งตรงกับเดือน PRIDE Month จึงได้ร่วมกันจัดบริการวิชาการโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพแก่ประชาชน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีในวงกว้างซึ่งทางสมาคมฯและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในสตรี และปีนี้ภายใต้แคมเปญ HPV PRIDE Month NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี เราจึงได้ขยายกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์สู่เพศหลากหลายกับเชื้อ HPV โดยสารรณรงค์ประชาสัมพันธ์เน้นให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และเพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าใคร หรือไม่ว่าจะทางไหน หากไม่ใส่ใจป้องกัน ก็อาจมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ทุกเพศไม่ต่างกัน และทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ โดยพบว่ากว่า 8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงถึง 2-5 เท่า”

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อเอชพีวีกับโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ว่า“HPV ย่อมาจาก Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ ทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ ถ้าร่างกายแข็งแรงเชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอการติดเชื้อดังกล่าวอาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย ได้แก่ HPV 6, 11 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด HPV 16, 18, 58, 52, 45  สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการติดเชื้อ HPV คือการพัฒนารอยโรคไปสู่มะเร็งชนิดต่าง ๆ ในอนาคตได้”

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ได้ให้ข้อมูลว่าเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดถึง 70% และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เป็น 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย โดยวิทยาการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์แบบเดิมสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางครั้งกว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ในปัจจุบันจึงแนะนำให้สตรีในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง 14 สายพันธุ์ และสามารถระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการพัฒนารอยโรคหรือไม่ รวมถึงตอนนี้มี HPV Self Sampling ที่สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเอง การตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง



สำหรับ มะเร็งทวารหนัก การติดเชื้อ HPV ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของการก่อโรคมะเร็งทวารหนักในกลุ่มผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก โดยในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบว่ามีการกำจัดเชื้อ HPV ที่บริเวณทวารหนักได้ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงทำให้มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งทวารหนักได้สูงกว่าถึง 20 เท่า และมะเร็งช่องปากและลำคอ ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนบนหลังช่องปาก (HPV-related Oropharyngeal Cancer) ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก และมักพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง สำหรับในประเทศไทยและประเทศในเอเชียแม้อุบัติการณ์น้อยกว่าประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา แต่จากการศึกษาแบบ Meta-Analysis ที่เก็บข้อมูลจากหลายประเทศในเอเชีย พบความชุกของมะเร็งช่องปากและลำคอประมาณ 37% และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


สำหรับประเด็นเพศหลากหลายฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ ได้ให้ข้อมูลว่า “การมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV ทุกเพศไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีน HPV เพิ่มภูมิต้านทานจึงมีประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย และยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอด้วย สำหรับการรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ในประเทศไทยได้มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้ปกครองก็เริ่มมีการพาลูกผู้ชายมาฉีด แต่ก็ยังไม่นิยมเท่าผู้หญิง เพราะจุดเริ่มต้นในประเทศไทยของการณรงค์ให้ฉีดวัคซีนคือต้องการลดปัญหามะเร็งปากมดลูก เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา หากไม่ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV รวมทั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการมีคู่นอนหลายคน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในกลุ่ม Transmen ผู้ชายข้ามเพศ บางคนที่ใช้ Hormone อย่างเดียว ไม่ได้ผ่าตัด จะยังมีมดลูกอยู่ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ และเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน และมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องคลอดได้หากยังมีเพศสัมพันธ์แบบเพศหญิงทั่วไป ในกลุ่ม Transwomen สตรีข้ามเพศ สามารถติด HPV ได้เช่นกันและก็เป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนักได้ โดยกลุ่มที่ผ่าตัดแปลงเพศที่มีช่องคลอดใหม่แล้ว พบว่า HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น Transwomen ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วควรตรวจภายในทุกปี ร่วมกับการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV ให้มีภูมิต้านทานก็มีประโยชน์ลดเสี่ยงการโรคร้ายในอนาคต”


ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งวัคซีนเอชพีวีชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18 ) 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) และวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยเด็กช่วงอายุ 9-15 ปี จะเป็นช่วงวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดเนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ทั้งนี้ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมสร้างความปลอดภัยห่างไกลมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. Add LINE นัดหมายผ่านทาง LINE Official @chulabhornhospital กดเมนู “ศูนย์การรักษา” เลือกศูนย์ “สุขภาพสตรี” และกดติดต่อนัดหมายการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี มาร่วมขบวนหยุดเชื้อเอชพีวีไปด้วยกัน No HPV No Limit #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง