รีเซต

"COP28" ถกวาระกู้โลกร้อน ทั่วโลกรับมือ “หายนะธรรมชาติ”

"COP28" ถกวาระกู้โลกร้อน ทั่วโลกรับมือ “หายนะธรรมชาติ”
TNN ช่อง16
9 ธันวาคม 2566 ( 11:17 )
73
"COP28" ถกวาระกู้โลกร้อน ทั่วโลกรับมือ “หายนะธรรมชาติ”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดโต่ง ทั้ง ภาวะโลกร้อนและหนาวแบบสุดขั้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งจากรายงานของสมาคมนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ ระบุว่า มลภาวะจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1  ในปี 2565 พร้อมเตือนว่า ภายในปี 2573 มีความเป็นไปได้ที่โลกจะร้อนทะลุเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้โลกเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่เป็นอันตราย แน่นอนว่าในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP28 ให้ความสำคัญกับการพูดถึง “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 36.8 พันล้านตัน ในปีนี้ และยังพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28  จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซต่างๆ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอันดับต้นๆ ของโลก



จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ รายงานว่า นับแต่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1800 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ และสาเหตุหลักเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก”ที่มีลักษณะเหมือนผ้าห่มคลุมโลกไว้ ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงไม่ระบายออกและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน ที่เกิดจากการใช้ชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร อาคารบ้านเรือ รวมถึงการใช้ที่ดิน ที่ล้วนเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งนักวิทยาศาสตร์ เห็นพ้องกันว่า การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะช่วยให้มนุษย์หลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดและรักษาสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเอาไว้ได้ ซึ่งแผนว่าด้วยสภาพอากาศระดับชาติฉบับปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะแตะ 2.7องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้



ขณะที่ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) ในกรุงปารีสรายงานว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี ค.ศ.2022 โดยเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2021 และหากยังไม่มีพลังงานสะอาด การปล่อยมลพิษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ยังคงเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และทำให้เกิดพายุรุนแรงขึ้น 



การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ โดยมีบางประเทศที่ปล่อยก๊าซเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ นั่นคือ ประเทศที่ปล่อยก๊าซน้อยที่สุดจำนวน 100 ประเทศมีส่วนในการปล่อยก๊าซเพียงร้อยละ 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมด ในขณะที่ประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด 10 ประเทศมีส่วนทำให้เกิดก๊าซถึงร้อยละ 68 ดังนั้น ระเทศที่ก่อปัญหามากกว่าก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่า ทั้ง ลดการปล่อยก๊าซ และสนับสนุนงบประมาณสำหรับการแก้ปัญหา  การเปลี่ยนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี  ค.ศ.2050 ซึ่งทั่วโลกต้องลดการปล่อยก๊าซลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดลงเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี ระหว่างปี ค.ศ.2020-2030



ท่ามกลางปัญหาที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ที่ เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-12 ธ.ค. 2023 ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในปีนี้ โดยการประชุมระดับผู้นำ World Climate Action Summit มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

(1) Mohamed bin Zayed Al Nahyan ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เน้นย้ำพันธกรณีของ UAE ในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสมทบเงินทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด

(2) UN Secretary-General Antonio Guterres เน้นย้ำความสำคัญของ global stocktake จะช่วยนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

(3) King Charles III แห่งสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้มีการผสมผสานระหว่าง public และ private finance เพื่อนำไปพัฒนากลไกทางเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน และเกิดการไหลเวียนของเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ

(4) ประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในฐานะประธาน COP30 เน้นย้ำการลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมในการเจรจาพหุภาคี พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายประกาศลดการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030

ในการประชุมดังกล่าว ยังได้มีการจัดพิธีรับรองปฏิญญา Emirates Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 134 ภาคี ที่ให้การรับรองปฏิญญา เน้นย้ำความสำคัญของระบบอาหารและเกษตรกรรมที่มีต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกหนึ่งประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจคือ การให้งบฯอุดหนุนกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Funding) โดย UAE สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าวต่อไป



ภายใต้ “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) ซึ่งมีการเจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของ UNFCCC ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.2015 สิ่งสำคัญคือ มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2020  โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนถึงระดับที่ต้นไม้ พื้นดิน และมหาสมุทร สามารถดูดซับก๊าซนี้ได้เองในช่วงปี ค.ศ. 2050-2100 และให้ประเทศที่พัฒนาแล้วช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนในการต่อสู้โลกร้อน โดยให้ทบทวนผลกันทุก ๆ 5 ปี



ถึงแม้ว่า การใช้พลังงานสะอาดจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับ ภาวะโลกร้อนที่กำลังวิกฤตและกลายเป็นภาวะ “โลกเดือด” ตราบใดที่เรายังไม่สามารถลดการใช้ “พลังงานฟอสซิล” ลงได้ เห็นได้จากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสในปีนี้ ส่งผลให้เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ สร้างความหายนะทางธรรมชาติที่กระทบต่อมนุษย์อย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นภาวะ คลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม และพายุรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก...ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า เวที COP28 จะบรรลุข้อตกลงที่จับต้องได้ในการต่อสู้กับหายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์เหล่านี้อย่างไร ....









เรียบเรียงโดย    ปุลญดา  บัวคณิศร  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง