รีเซต

ฝีมือคนรุ่นใหม่! “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน “แก่นมะกรูด”

ฝีมือคนรุ่นใหม่! “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ”  สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน “แก่นมะกรูด”
TNN ช่อง16
19 มกราคม 2566 ( 15:14 )
99
ฝีมือคนรุ่นใหม่! “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ”  สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน “แก่นมะกรูด”

เมื่อความเจริญเข้ามาถึงชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วของตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทำให้วิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาและผูกพันกับธรรมชาติ กำลังถูกกระแสของโลกทุนนิยมสมัยใหม่กลืนกิน คนหนุ่มสาวชาวแก่นมะกรูดรุ่นใหม่นำโดย “รุ่งฤดี สุทรหลวง” หรือ “อ้อย” จึงได้รวมพลังเปิด “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” นำภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ มาสร้างจุดขาย พร้อมกับยกระดับให้พื้นที่แห่งนี้เป็นหมุดหมายใหม่ให้กับนักเดินทางที่ต้องการเข้าถึงแก่น มากกว่าแค่มาถึงยังแก่นมะกรูด ดินแดนที่ถูกขนานนามว่ามีอากาศหนาวที่สุดของภาคกลาง

โดยที่มาของ “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” เกิดจากการตั้งคำถามว่า อาหารต่างๆ ที่พวกเขาเคยกินในวัยเด็กนั้นหายไปไหน? นำมาสู่การสืบค้นและรวบรวมเมนูอาหารต่างๆ และค้นหาผู้ที่ยังทำอาหารเหล่านั้นได้ จากนั้นก็ชักชวนเพื่อนๆ เข้าไปเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำอาหารแต่ละชนิด เพื่อให้ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้กลับมาทานอาหารพื้นบ้านอีกครั้ง

ย้อนไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่มีของเข้ามาขาย พวกเขาจึงเริ่มตระหนักถึงภูมิปัญญาและการพึ่งพาตนเองแบบวิถีดั้งเดิม จึงหลายเป็นโอกาสในการชักชวนชาวบ้านให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นกะเหรี่ยงโผล่วให้กลับคืนสู่ชุมชน เริ่มจากการเปิดครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว 


โดยเมนูที่ภูมิใจนำเสนอได้แก่ “เชอยิเก่อ” หรือแกงปลาสับใส่ข้าวคั่ว  แกงข้าวเบือใส่หมู แกงข้าวคั่วไก่ ต้มปลาใส่มะตาดและมะกรูด น้ำพริกปู น้ำพริกมะเขือส้ม น้ำพริกปลาดุก แกงหยวกกล้วยใส่ไก่ แกงยอดมะระขี้นกใส่หมู ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่ต้องการสื่อสารกับคนภายนอกว่า แก่นมะกรูดนมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีอยู่มากมาย

ซึ่งครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ เป็นผลของการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนากับเด็กและเยาวชนของ “สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์” หรือ “ป้าโก้” หัวแรงหลักสำคัญของ “บ้านไร่อุทัยยิ้ม” หนึ่งในภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน พื้นที่เรียนรู้ หรือ Learning space ของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นำเอาต้นทุนในด้านต่างๆ ของแต่ชาวอำเภอบ้านไร่ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่มานานกว่า 15 ปี 


อีกทั้งครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ ยังเป็นเครือข่ายของคนในชุมชน โดยการใช้วัตถุดิบจากชุมชนเป็นหลัก ชาวบ้านได้ขายพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาล สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้จากวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่เพาะปลูกตามวิถีดั้งเดิม และยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในชุมชน โดยทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมให้ชาวบ้านได้นำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ  หรือขนมพื้นบ้านมาวางขายอีกด้วย

วันนี้ “เชอยิเก่อ” จึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อสำรับอาหารภายในบ้าน แต่เป็นการนำพาวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวกะเหรี่ยงโผล่วที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ ออกไปสู่ภายนอก พร้อมกับปักหมุดหมายใหม่ เปลี่ยนกระแสของการท่องเที่ยวแบบมา เช็ค-แชะ และจากไป ให้แก่นมะกรูดกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมโดยนำ “อาหาร” มาเป็นเครื่องมือในการเปิดประตูเข้าไปสู่การเรียนรู้ในมิติอื่นๆ ของพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างลงตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง