รีเซต

สธ.ย้ำอย่าตื่นตระหนก บราซิลแจงวัคซีนจากจีนได้ผล 50 กว่าเปอร์เซนต์

สธ.ย้ำอย่าตื่นตระหนก บราซิลแจงวัคซีนจากจีนได้ผล 50 กว่าเปอร์เซนต์
PakornR
13 มกราคม 2564 ( 15:45 )
153

     วันนี้ (13 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงกรณีศูนย์ชีวการแพทยบูทันทัน (Butantan biomedical center) หน่วยงานที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทซิโนแวก (Sinovac) ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีน เปิดเผยผลการทดลองเชิงคลินิคในเฟสที่ 3 ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศบราซิล พบว่า มี “ประสิทธิภาพโดยทั่วไป” (general efficacy) อยู่ที่ 50.38 เปอร์เซ็นต์  โดยได้ระบุว่า หลักการขององค์การอนามัยโลกกำหนดประสิทธิภาพของวัคซีนหากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้เกินกว่าร้อยละ 50 ถือว่า วัคซีนชนิดนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอตามมาตรฐานการป้องกันโรค 

 

วัคซีนโควิดจากจีนใช้เชื้อตายผลิต

 

สำหรับวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีนนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นการผลิตโดยการใช้เชื้อตาย เอามาน็อคให้หมดฤทธิ์แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นกระบวนการผลิตวัคซีนในรูปแบบดั้งเดิม เป็นเทคโนโลยีที่คุ้นชินในการผลิตวัคซีนมาอย่างยาวนาน

 

นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลว่าประเทศจีนมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับทหารและบุคลากรทางการแพทย์​หลายแสนคน ยังไม่พบผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดความน่าวิตกกังวล ในขณะเดียวกันพบว่า วัคซีนในบางบริษัทพบว่ามีบุคลากรรับวัคซีนเข้าไปแล้วมีผลข้างเคียง ถึงขั้นไม่สามารถไปทำงานได้ หรือเกิดผลข้างเคียงอื่นเกิดขึ้นตามมาตามที่ทราบซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันทางวิชาการ

 

ยืนยันฉีดวัคซีนโควิดตามแผนเดิม

 

ทั้งนี้ อยากขอย้ำว่า การสื่อสารถึงผลประสิทธิภาพของวัคซีนต่างๆ ต้องบอกว่าเป็นในช่วงระยะสามช่วงแรกเท่านั้น ผลของการทดลองในเฟสสามหรือระยะที่สามในมนุษย์นั้น จะต้องติดตามผลเป็นปีถึงปีครึ่ง เพื่อติดตามในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากเพื่อประเมินประสิทธิภาพและข้อดีต่างๆ ให้ครบถ้วนรอบด้าน

 

"โดยรวมแล้ว ประการแรก การพิจารณาวัคซีนเราต้องดูผลประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกัน รวมทั้งเรื่องการจัดการ การจัดเก็บ การขนส่ง  สอง ต้องดูเรื่องราคาการจำหน่ายที่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อจำนวนมาก และสาม จำนวนที่จะมีการผลิตและส่งมอบให้เรา ต้องมีเพียงพอต่อการฉีดในแต่ละระยะ อย่างไรก็ตาม หากจะให้รอบางรายที่เป็นผู้ผลิต แล้วต้องรอจนถึงปลายปี ก็ต้องรอดูว่ารอไหวหรือไม่" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ พร้อมย้ำว่า อย่าเพิ่งตกใจต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจะประสานขอข้อมูลจาก ชิโนแวคต่อไป ตนเชื่อว่า การฉีกวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยยังเป็นไปตามแผน ปลายเดือน ก.พ. น่าจะเร่ิมฉีดให้กลุ่มแรกได้

 

 

อย.ย้ำ 3 เรื่องประเมินวัคซีนโควิด

 

ส่วนเรื่องความคืบหน้าในการขึ้นทะเบียนวัคซีน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาฯ อย. กล่าวว่า  บทบาท อย. มีหน้าที่ดูแลเรื่อง ยา วัคซีน มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งก่อนการนำไปใช้งานจริง อย. จะต้องประเมิน ใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.คุณภาพ 2.ความปลอดภัย และ 3.ประสิทธิภาพ ว่าทั้งหมดนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่

 

รองเลขาฯ อย. กล่าวว่า ทั้งสามประเด็นดังกล่าว ผู้ที่มายื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการ นำเสนอให้ผู้ชี่ยวชาญของทาง อย. ซึ่งขณะนี้ระดมความร่วมมือจากทั่วประเทศมาร่วมพิจารณา เพื่อให้ขั้นตอนรวดเร็วขึ้น และครบถ้วนต่อการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพิจารณา จากเดิมตามปกติ จะต้องรอเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์จึงจะมีการพิจารณา แต่สำหรับกรณีวัคซ๊นโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงให้มีการยื่นบางส่วนเพื่อพิจารณาควบคู่กันไป และหากข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมดจึงจะมีการประกาศผลการรับรองต่อไป 

 

เผยมี 2 รายยื่นอนุมัติวัคซีนโควิด

 

"ตอนนี้มี 2 รายยื่นมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ประกอบด้วย  แอสตราฯ และชิโนแวค ซึ่งข้อมูลยังไม่ครบ เดิมเราต้องรอให้ครบถึงดำเนินการพิจารณาแต่ปัจจุบันในสถานการณ์โควิด จึงให้ทยอยมายื่นแต่ละส่วน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน แต่การจะอนุญาตนั้นข้อมูลทุกอย่างต้องครบถ้วน" รองเลขา อย. ระบุ และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่ิงสำคัญในการนำเข้าวัคซีนนั้น จะต้องมีสองส่วนคือ ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้านั้นจะต้องมีหลักฐานการนำเข้าจากผู้ผลิตโดยตรง หากมีผู้นำเข้าอิสระ ไม่ได้มายื่นขออนุญาตจะถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปลอมวัคซีน และเพื่อยืนยันว่านำเข้าจากบริษัทโดยตรง รวมทั้งจะมีผู้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดตามมาที่สามารถติดต่อโดยตรงได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ รองเลขาฯ อย. ได้ย้ำว่า เรื่องการพิจารณาอนุมัติวัคซีน อย. จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามมาตรฐาน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์แน่นอน.

 

คลิกอ่าน

>>> เปิดไทม์ไลน์วัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย

>>> รวมความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของโลก และประเทศไทย

>>> อาการของโควิด-19 กับไข้แต่ละประเภท แตกต่างกันอย่างไร

 

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง