รีเซต

ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือ 0 อุ้มค่าไฟ 6 เดือน - ไฟเขียวกฟผ.กู้ 2.5 หมื่นล้าน

ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือ 0 อุ้มค่าไฟ 6 เดือน - ไฟเขียวกฟผ.กู้ 2.5 หมื่นล้าน
ข่าวสด
8 มีนาคม 2565 ( 16:36 )
40
ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือ 0 อุ้มค่าไฟ 6 เดือน - ไฟเขียวกฟผ.กู้ 2.5 หมื่นล้าน

ข่าววันนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ว่า ครม.อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมด ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตรา 0% มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันกว่า 60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NGV) แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ

 

น.ส.รัชดากล่าวด้วยว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1-1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง

 

นอกจากนี้ ครม. มีมติอนุมัติให้กฟผ. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565-2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กฟผ. ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ตามมาตรการของรัฐบาลในการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการผลิตไฟฟ้าในช่วงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้านั้น มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ NGV ในประเทศ ทำให้ กฟผ. ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

 

ดังนั้น กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศและเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง