รีเซต

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ผลกระทบภาวะโลกร้อนทำน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมากขึ้น

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ผลกระทบภาวะโลกร้อนทำน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมากขึ้น
TNN ช่อง16
22 พฤศจิกายน 2566 ( 17:48 )
51
นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ผลกระทบภาวะโลกร้อนทำน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมากขึ้น

นักวิจัยจุฬาฯ เผยหลังร่วมทีมนักวิจัยจีนกลับสู่ไทย ชี้ผลกระทบภาวะโลกร้อนทำน้ำแข็งละลายมากขึ้น แนวโน้มอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) อาจถึงขั้นวิกฤติ

 

จากการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสส่งนักวิจัยไทยไปที่อาร์กติก และแอนตาร์กติก กับประเทศจีน ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  


สองนักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กลับมาจากการไปสำรวจที่อาร์กติกแล้ว พบภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้น  และในเดือนมกราคมในปีหน้า  ทางโครงการฯ เตรียมส่งนักวิจัยมุ่งหน้าสู่แอนตาร์กติก ขยายผลศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบนิเวศแอนตาร์กติกต่อเนื่อง

ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยนายอานุภาพ  พานิชผล  นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) พร้อมกับคณะสำรวจอาร์กติกจากประเทศจีนรุ่นที่ 13 เป็นเวลา 3 เดือน  ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ ฯ ของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้กลับสู่ประเทศไทยแล้วในช่วงเดือนที่ผ่านมา  


นักวิจัยได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่าง ตะกอนดิน  น้ำทะเล และ ปลา เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของมลพิษเช่น ไมโครพลาสติก และการหมุนเวียนของคาร์บอนของน้ำทะเลบริเวณขั้วโลก โดยนักวิจัยไทยสองคน ได้เดินทางโดยเรือตัดน้ำแข็งชื่อ ซูหลง 2 ของประเทศจีน  ซึ่งในปีนี้  เป็นปีแรกที่คณะสำรวจของประเทศจีนสามารถเดินทางไปถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือ ณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จ แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกในปีนี้บางลงกว่าปีก่อนๆ มาก  เนื่องจากน้ำแข็งที่หายไปสามารถคืนกลับมาได้น้อยลง ทำให้เรือตัดน้ำแข็งสามารถเดินทางเข้าไปสู่จุดที่เป็นขั้วโลกเหนือได้ไม่ยากนัก 


ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ระหว่างการเดินทาง นักวิจัยจากประเทศจีน รัสเซีย  และไทย  รวมทั้งหมดหนึ่งร้อยชีวิตในเรือตัดน้ำแข็ง ได้ร่วมกันสำรวจวิจัยทางสมุทรศาสตร์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขั้วโลกเหนือ  โดยได้มีการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล ดินตะกอน แพลงก์ตอนพืช  แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์ทะเลบางชนิด เพื่อตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ในระหว่างทางนักวิจัยยังได้เห็นหมีขาว  วอลรัส และวาฬนำร่อง  ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่น้ำแข็งละลายอีกด้วย


"การเดินทางไปครั้งนี้ นอกจากจะศึกษาไมโครพลาสติกที่สะสมในมวลน้ำ ดินตะกอน และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอาร์กติกแล้ว  ยังมีการศึกษาถึง การหมุนเวียนสารอาหารและฟลักซ์คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถที่จะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองทางชีวธรณีเคมีต่อการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรอาร์กติกในภาวะโลกร้อน  นอกจากนี้ การเดินทางในครั้งนี้ ยังได้ประสบการณ์การทำงานในทะเลที่เป็นน้ำแข็งและที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น" ดร.สุจารี กล่าว


ด้านนายอานุภาพ  พานิชผล  นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งจากการไปสำรวจพบว่าความหนาของน้ำแข็งใหม่ในรอบปีมีความหนาที่ลดลง ส่วนในเรื่องของมลพิษในทะเล  เช่นการสะสมของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลและในอากาศบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน  


ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ จะมีการส่งนักวิจัยอีกสองท่าน นำโดย สพ.ญ.ดร.คมเคียว พิณพิมาย จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภศิชา ไชยแก้ว จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปพร้อมกับคณะสำรวจแอนตาร์กติกรุ่นที่ 40 ของประเทศจีน เพื่อความต่อเนื่องในการศึกษาถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และไมโครพาสติกที่มีต่อระบบนิเวศที่แอนตาร์กติก  


พร้อมทั้งศึกษาความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปริมาณคาร์บอนในดิน  รวมทั้งศึกษาการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากดินบริเวณขั้วโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือของนักวิจัยไทยกับประเทศจีนที่มีมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกพระราชดำริฯ


ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยผู้เปิดประตูสู่งานวิจัยสภาพภูมิอากาศขั้วโลกคนแรกๆ ของประเทศไทย ที่มีโอกาสเดินทางไปที่แอนตาร์กติก และอาร์กติกหลายครั้ง ได้ให้ข้อคิดเห็นจากการสำรวจของนักวิจัยไทยในครั้งนี้ ว่า การที่เรือตัดน้ำแข็งของประเทศจีนสามารถที่จะเดินทางเข้าถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือได้เป็นครั้งแรก และไม่ยากนั้น  


แสดงให้เห็นว่าขณะนี้บริเวณขั้วโลก มีการสะสมของก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้น้ำแข็งละลาย ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก เป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราว่า ผลกระทบของสภาพภูมิอากาสที่เปลี่ยนแปลงจะขยายขอบเขตมากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น

 

ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ข้อมูล-ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง