รีเซต

ลุ้นคลายล็อก ผลักอุตฯรถฟื้น

ลุ้นคลายล็อก ผลักอุตฯรถฟื้น
มติชน
31 สิงหาคม 2564 ( 06:54 )
86

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นมาตลอด 2 ปี ได้ทำให้เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วทั้งโลกขาดแคลนอย่างหนัก เพราะกำลังผลิตลดลงมากจากผลกระทบโควิด ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการที่ทั่วโลกใช้มาตรการเวิร์กฟรอมโฮม คือการทำงานที่บ้าน เรียนหนังสือที่บ้าน ทุกกิจกรรมหันไปพึ่งพาเทคโนโลยี อุปกรณ์ไอทียอดขายโตก้าวกระโดด ขณะที่การลงทุนเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที ต้องใช้เวลา 1-2 ปี

 

 

ดังนั้น จึงคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิปของทั้งโลกจะเกิดขึ้นต่อในปี 2565

 

 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วยว่าจะคลี่คลายเร็วเพียงใด จากการระดมฉีดวัคซีนทั่วทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย

 

 

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ เส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมไทยจะมีทิศทางเช่นไร ‘สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์’ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อปลายปี 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศ ปี 2563 อยู่ที่ 7.9 แสนคัน มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สาเหตุหนึ่งมาจากยอดขายในเดือนธันวาคมที่มีการจัดงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป

 

 

ซึ่งมีตัวเลขยอดจองถือว่าดี ทำให้ยอดขายในเดือนธันวาคมสูงถึง 1.04 แสนคัน ซึ่งยอดขายหลักแสนคันต่อเดือนไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทำให้เวลานั้นกลุ่มยานยนต์ตัดสินใจประเมินยอดขายรถยนต์ปีนี้ในประเทศไว้ที่ 8.4-8.5 แสนคัน และหากสถานการณ์โควิด และปัญหาชิปขาดแคลนเบาบางลงอาจทำให้ยอดขายพุ่งไปถึง 9 แสนคัน ซึ่งตัวเลขนี้ผู้ผลิตรถยนต์บางค่ายประเมินว่าจะถึง 9 แสนคันเช่นกัน

 

 

 

กระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ใน จ.สมุทรสาคร ต่อมาเดือนมกราคม 2564 มีโรงงานในเมืองไทยและโรงงานต่างประเทศออกข่าวว่ารถยนต์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ต้องหยุดผลิตชั่วคราวเพราะขาดแคลนชิป

 

 

อย่างในประเทศไทยมีค่ายรถบางรายต้องหยุดผลิตเป็นเวลากว่า 10 วัน พอสถานการณ์เป็นเช่นนี้กลุ่มยานยนต์มองว่าเป้าหมายยอดขายรถยนต์ในประเทศ 8.4-8.5 แสนคัน คงเป็นไปได้ยากแล้ว จึงขอดูสถานการณ์ก่อน ขณะที่ต่างประเทศคลายล็อกดาวน์ มีกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศนั้นๆ ดีขึ้น ส่งผลให้มีการนำเข้ารถยนต์จากไทยเพิ่มขึ้น

 

 

ตลอดปี 2563 ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้กว่า 1.4 ล้านคัน ด้วยสถานการณ์ระบาดโควิดต้องจับตาต่อเนื่อง ปีนี้จึงตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5 ล้านคัน ยอดผลิตดังกล่าว แบ่งเป็น ส่งออก 7.5 แสนคัน ขายในประเทศ 7.5 แสนคัน จากที่เคยคาดว่าจะถึง 8.4-8.5 แสนคัน แต่ปัญหาโควิดและชิปขาดแคลนคือตัวแปรที่ไม่กล้ามองสูงขนาดนั้น

 

 

ล่าสุด ตัวเลขผลิตรถยนต์ช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้ถือว่าดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขส่งออก บางประเทศเดือนมิถุนายนการ

 

 

ส่งออกดีมาก ทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย หลังจากลดลงมากในปี 2563 เพราะผลกระทบจากโควิดทำให้ต้องปิดประเทศ ตลาดรถยนต์จอดสนิท ขณะที่เดือนกรกฎาคมก็เติบโตต่อเนื่อง

 

 

ส่วนยอดขายในประเทศยังไม่ดีนัก จะดีแค่ช่วงที่มีงานแสดงรถยนต์มอเตอร์โชว์ช่วงเดือนมีนาคม และโชคดีที่งานดังกล่าวจบวันที่ 4 เมษายน เพราะวันที่ 8-9 เมษายน เกิดการระบาดระลอก 3 จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ส่งผลกระทบรุนแรง แต่รัฐบาลไม่ล็อกดาวน์ปล่อยให้มีการเดินทางช่วงสงกรานต์ ช่วงดังกล่าวยอดขายในประเทศได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก เพราะเดือนเมษายนมียอดจองอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่เดือนพฤษภาคมก็มากขึ้น

 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวกลุ่มยานยนต์จึงคงเป้าหมายยอดขายรถยนต์ปีนี้ไว้ที่ 7.5 แสนคัน ขณะที่หลายค่ายเริ่มปรับเป้าหมายลดลงใกล้เคียงกับ ส.อ.ท.

 

 

เมื่อยอดส่งออกหลังผ่านไป 6 เดือนเห็นว่าแนวโน้มดีขึ้น ยอดส่งออกรวมอยู่ที่ 4.7 แสนคัน ทั้งปีมีโอกาสได้ถึง 9 แสนคัน แต่กลุ่มยานยนต์ตัดสินใจปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 8.0-8.5 แสนคันก่อน เพราะปัจจัยโควิดและชิปขาดแคลนยังรุนแรงอยู่ เพราะตัวเลขของกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เป็นตัวเลขที่ภาครัฐนำไปใช้ประมาณการวางแผนการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนั้น การประเมินของกลุ่มยานยนต์ต้องอยู่กับความเป็นจริง ไม่ควรเว่อร์ โดยคาดการณ์ตัวเลขผลิตรวมไว้ที่ 1.55-1.6 ล้านคัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ 12 กรกฎาคม ได้ส่งผลรุนแรง สาหัส เพราะลูกค้าที่จองรถขอยกเลิก คือทิ้งใบจองเลย จำนวนมากกว่าการขอเลื่อนรับรถ เพราะไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะล็อกดาวน์นานแค่ไหน เนื่องจากผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำสถิตินิวไฮ รุนแรงกว่าเดือนเมษายน 2563

 

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โชว์รูมรถยนต์ไม่มีลูกค้าเข้า ยิ่งไปกว่านั้นศูนย์บริการลูกค้ายังไม่มีลูกค้าเอารถเข้าซ่อมอีกแม้ถึงกำหนด เพราะกังวลเชื้อโควิด
ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศเผชิญกับ

 

 

โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรง และบางประเทศเริ่มผลิตชิปไม่ได้ อย่างประเทศจีนยอดผลิตและขายติดลบอย่างมากเพราะขาดแคลนชิป ประเทศไทยเองก็เจอปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะปัญหาชิ้นส่วนอื่นๆ รุนแรงกว่าชิปซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งเช่นกัน ทำให้ค่ายรถยนต์หยุดผลิต 5 วัน 7 วัน 10 วัน และบางรายนานถึง 10 วัน เพราะรถยนต์ใช้ชิ้นส่วนประมาณ 3 หมื่นชิ้น

 

 

ล่าสุด กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ยังประเมินตัวเลขยอดขายในประเทศไว้ที่ 7.5 แสนคัน ส่งออก 8.0-8.5 แสนคัน ตัวเลขผลิต รวม 1.55-1.6 ล้านคัน แต่ต้องติดตามเดือนกรกฎาคมที่ยอดขายต่ำมาก เหลือเพียง 5.2 หมื่นคัน ส่งออก 7 หมื่นคัน ทำให้ยอดผลิตอยู่ที่ 1.22 แสนคัน ต่ำสุดในรอบปี และจับตาช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างใกล้ชิด

 

 

“การที่รัฐบาลตัดสินใจคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ประชาชนน่าจะกล้าเข้าโชว์รูมมากกว่าขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ ปัญหาการขาดแคลนชิปอาจกระทบต่อรถยนต์บางรุ่นที่เป็นที่ต้องการของตลาด ประชาชนยังถือใบจองอยู่ ตรงนี้โชว์รูมจะส่งมอบรถได้หรือไม่ ยกตัวอย่างปัญหาขาดแคลนชิปเห็นได้จากที่มีค่ายรถยี่ห้อหนึ่งประกาศว่าเดือนกันยายนนี้จะลดการผลิตทั่วโลกลง 40% จาก 9 แสนคัน เหลือ 5.4 แสนคัน หายไป 3.6 แสนคัน ตรงนี้ต้องดูว่ากระทบกับการผลิตในประเทศไทยหรือไม่ มากเพียงใด” โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ทั้งหมดนี้ต้องติดตามสถานการณ์ช่วง 1-2 เดือนต่อไปว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นหรือฟุบ เพราะปัจจัยบวกอาจไม่หนุนพอ เมื่อเทียบกับวิกฤตชิปขาดแคลนที่ไทยและทั่วโลกเผชิญอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง