กรมโลกร้อนฯ ชี้เป้าสายช้อปรักษ์โลก 7 สัญลักษณ์สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาโลกร้อนนับวันยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว จากผลพวงการใช้ชีวิต การบริโภค และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนบนโลก ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และวนกลับมาส่งผลกระทบกับโลกและมนุษย์ และเพื่อแก้ไขสถานการณ์โลกร้อน ทั่วโลกได้กำหนดความร่วมมือที่จะรักษาอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และประเทศไทยเองก็มีการกำหนดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40
แต่การทำให้เห็นผลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนไปสู่การลงมือทำ เริ่มจากการจัดการเรื่องใกล้ตัวอย่างการบริโภค การจับจ่ายซื้อของหรือสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันก็มีตัวช่วยอย่างสัญลักษณ์บนสินค้าที่จะนำทางผู้บริโภคได้ว่า สินค้าชิ้นนั้นมีความใส่ใจ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลและรวมรวมชี้เป้า 7 สัญลักษณ์ สำหรับสายช้อปรักษ์โลก ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อโลก ดังนี้
1. สัญลักษณ์ G : สัญลักษณ์มาตรฐานโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่รับรองว่ากระบวนการผลิต หรือการบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ G เช่น
-สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Production) กลุ่มผ้าเครื่องแต่งกายจากผ้าและเคหะสิ่งทอ กลุ่มเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา กลุ่มไม้และจักสาน กลุ่มสบู่
-โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel)
- ร้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Production)
2. สัญลักษณ์ อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry : โดยกระทรวงอุตสาหกรรม สินค้าที่มาจากอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. สัญลักษณ์ FSC : เป็นสัญลักษณ์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อในตลาดระดับสากล ผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจได้ว่ามาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4. ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 : สัญลักษณ์เห็นกันบ่อยๆ ตามเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ ช่วยให้สามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
5. ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ : หรือ ฉลากลดโลกร้อน แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมิน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
6. ฉลากเขียว : ฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม ฉลากเขียวเป็นการสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการ ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องใช้ในสำนักงาน อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
7. ฉลากรีไซเคิล : บรรจุภัณฑ์ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผู้ซื้อต้องแยกขยะให้ถูก สะอาด แห้ง ด้วยเพื่อสามารถนำกลับเข้าสู้วงจรไปรีไซเคิลได้ เช่น กล่องอาหารพลาสติก ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดน้ำพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม
สัญลักษณ์รักษ์โลกอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่การเลือกซื้อของอย่างชาญฉลาด คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้สินต้าชิ้นนั้น ๆ ที่ใช้สินค้าได้อย่างคุ้มค่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ข้อมูล : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : Canva , กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม