ผลกำไรมาก่อนความปลอดภัย อดีตพนง. Facebook เปิดโปงระบบ สร้างเงินจากความเกลียด-สุขภาพจิต
เปิดม่านหลังบ้าน Facebook
อดีตพนักงานของบริษัท Facebook ออกมาเปิดโปงสะเทือนเครือข่ายยักษ์ใหญ่โซเชียล มีเดีย อย่าง Facebook ด้วยการกล่าวหาว่า “ให้ความสำคัญกับผลกำไร มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้”
ฟรานเซส เฮาเกน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล วัย 37 ปี จากรัฐไอโอวา อดีตพนักงานของ Facebook ในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นทีมจัดการการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ ของยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียแห่งนี้ ได้ออกมาเปิดเผยตัวตนของเธอ ผ่านรายการ 60 Minutes ซึ่งทางเครือข่ายโทรทัศน์ CBS ของสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน
โดยเผยว่า เธอคือผู้เปิดโปงที่ส่งเอกสารข้อมูล จนนำไปสู่การสืบค้นของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal และการเปิดการสอบสวนของวุฒิสภา เกี่ยวกับอันตรายต่อเด็กสาวบน Instagram ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในเครือ Facebook
ผลกำไรมาก่อนความปลอดภัย
เฮาเกน ผู้เคยกล่าวหาสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่นี้ว่า ตระหนักดีถึงอันตรายของ Facebook ที่มีต่อการปลุกระดมความเกลียดชัง และภัยต่อสุขภาพจิตของเยาวชน พร้อมกล่าวหา Facebook ด้วยว่า “ให้ความสำคัญกับผลกำไร มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้”
เธอผ่านการทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีมาแล้วหลายบริษัท รวมทั้ง Google และ Pinterest แต่ Facebook คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอมา
เฮาเกน บอกว่า Facebook แสดงให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า “เลือกกำไรก่อนความปลอดภัย” และเน้นสร้างผลกำไรบนความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน
และว่า “สิ่งที่ปรากฏบน Facebook ทุกวันนี้ กำลังฉีกสังคมของเราให้เป็นเสี่ยง ๆ กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง และความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นทั่วโลก”
รัฐควรเข้าควบคุมก่อนไฟลุกลาม
Facebook โกหกสังคมเกี่ยวกับความคืบหน้า ในการจัดการกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง และการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของตน
แม้เชื่อว่า ไม่มีใครใน Facebook “ชั่วร้าย” แต่เฮาเกนบอกว่า บริษัทจัดการกับมาตรการจูงใจอย่างผิดพลาด เธอยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ แทรกแซงด้วยการควบคุมและจัดระเบียบ Facebook ใหม่ด้วย
ก่อนหน้านี้ เฮาเกนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเธอได้เปิดเผยเอกสารต่อนักการเมืองอเมริกันและสื่อ The Wall Street Journal เกี่ยวกับรายละเอียดที่ว่า Facebook ทราบดีว่าสื่อของตน รวมทั้ง Instagram เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
โฆษณาน้อยลง ผลกำไรก็ลดตาม
ในรายการ “60 Minutes” เฮาเกนยังได้อธิบายถึงระบบการทำงานของ Facebook ในการเลือกโพสต์ที่จะปรากฏบนหน้าฟีดของผู้ใช้ โดยคัดเนื้อหาที่คาดว่า จะได้รับการตอบสนองจากผู้ใช้ผู้นั้นมากที่สุด
ฮอเกน เผยว่า รายงานการวิจัยของ Facebook เองชี้ว่า “เป็นเรื่องง่ายที่สื่อสังคมออนไลน์จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เกิดอารมณ์โกรธมากกว่าอารมณ์อื่น ๆ”
แต่ Facebook ทราบดีว่าหากเปลี่ยนระบบการคัดสรรเนื้อหานั้น อาจทำให้ผู้ใช้ใช้เวลาบนหน้า Facebook น้อยลง หรือกดเลือกโฆษณาน้อยลง ซึ่งหมายถึงผลกำไรที่ลดลงตามไปด้วย
อันตรายที่สร้างประโยชน์ต่อองค์กร
อดีตลูกจ้างของบริษัท Facebook ผู้นี้ กล่าวด้วยว่า ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว Facebook ตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาบางอย่าง และเริ่มใช้ระบบควบคุมเพื่อความปลอดภัย ลดความรุนแรงจากเนื้อหาดังกล่าว
แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง Facebook ก็กลับไปตั้งค่าระบบเดิมอีกครั้ง
ทั้งนี้ Facebook ทำเงินได้มากขึ้น เมื่อผู้ใช้บริโภคเนื้อหาต่าง ๆ มากขึ้น และยิ่งผู้ใช้มีความโกรธมากเท่าไร ก็ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น และบริโภคเนื้อหาเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วย
เฮาเกนกำหนดไปให้ปากคำ ต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาในวันนี้ (5 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่น ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กในระบบออนไลน์” ว่าด้วยการวิจัยของ Facebook เกี่ยวกับผลกระทบจาก Instagram ต่อเด็ก