ร้อนนี้ไม่ใช่แค่เหงื่อ แต่คือความจนของคนทั้งโลก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) นำโดย ดร.ทิโมธี นีล (Dr. Timothy Neal) เผยผลการศึกษาใหม่ที่น่ากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจโลก โดยหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เศรษฐกิจโลกอาจสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มากถึง 40%
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประเมินผลกระทบจากโลกร้อนไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากแบบจำลองเหล่านี้มักตั้งสมมติฐานว่า สภาพอากาศที่ส่งผลต่อประเทศหนึ่งๆ นั้นมีผลแค่ภายในประเทศนั้น แต่ในความเป็นจริง โลกเรามีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างซับซ้อน ผ่านระบบการค้า ห่วงโซ่อุปทาน และระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศหนึ่งได้รับผลกระทบแม้สภาพอากาศเลวร้ายจะเกิดในอีกประเทศหนึ่ง
ดร.นีลอธิบายว่า หากเราพิจารณาผลกระทบแบบองค์รวมที่ครอบคลุมถึงความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ตัวเลขความเสียหายต่อ GDP โลกจากภาวะโลกร้อนจะเพิ่มจากที่เคยประเมินไว้ 11% เป็น 40% ภายในสิ้นศตวรรษนี้
ภายใต้สภาพอากาศปัจจุบัน เมื่อประเทศใดประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เช่น ภัยแล้งหรือพายุ พวกเขายังสามารถพึ่งพาประเทศอื่นที่มีสภาพอากาศดีขึ้นในปีนั้นในการนำเข้าสินค้าทดแทนได้ในราคาที่เหมาะสม แต่หากโลกร้อนขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ ความสามารถในการพึ่งพากันแบบนี้จะลดลง ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และนำไปสู่เงินเฟ้อด้านต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ทำไมภูมิอากาศจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ?
กว่า 80% ของการค้าขายสินค้าทั่วโลกอาศัยการขนส่งทางน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงพายุ คลื่นลมแรง และน้ำท่วม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสถานการณ์ที่คลองปานามาประสบภัยแล้งในปี 2023 จนทำให้ปริมาณการขนส่งลดลงถึง 15 ล้านตัน
ภัยแล้งไม่เพียงกระทบต่อภาคขนส่งทางน้ำ แต่ยังกระทบภาคเกษตรกรรมโดยตรง ทั้งในแง่ของผลผลิต ราคาสินค้าเกษตร ค่าไฟฟ้า และต้นทุนอื่นๆ แรงงานภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพจากความร้อน โดยอัตราการเสียชีวิตจากความร้อนในกลุ่มแรงงานเกษตรนั้นสูงกว่าภาคอื่นถึง 35 เท่า ซึ่งย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้แหล่งน้ำสะอาดลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า บางภูมิภาคอาจเผชิญกับอัตราการเติบโตของ GDP ที่ลดลงถึง 6% ภายในปี 2050 จากปัญหาขาดแคลนน้ำที่กระทบต่อเกษตรกรรม สุขภาพ รายได้ และทรัพย์สิน
การหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงนี้ทำได้เพียงผ่านการดำเนินนโยบายที่เร่งด่วนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องมีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจที่แม่นยำยิ่งขึ้น
งานวิจัยนี้ยังเสนอเกณฑ์ใหม่สำหรับระดับอุณหภูมิเพื่อความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ โดยชี้ว่า หากโลกร้อนเกิน 1.7°C ความเสียหายจะรุนแรงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของความตกลงปารีสที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5°C
ท้ายที่สุด ดร.นีลเน้นย้ำว่า โลกต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เช่น ราคาสินค้าและค่าประกันภัยที่สูงขึ้น และต้องเปิดรับข้อมูลใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อความเป็นจริงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด