รีเซต

สื่อดังรายงาน ! TikTok กำลังโคลนอัลกอริทึม สร้างแอปเวอร์ชันใหม่ให้ใช้ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

สื่อดังรายงาน ! TikTok กำลังโคลนอัลกอริทึม สร้างแอปเวอร์ชันใหม่ให้ใช้ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ
TNN ช่อง16
31 พฤษภาคม 2567 ( 15:37 )
28
สื่อดังรายงาน ! TikTok กำลังโคลนอัลกอริทึม สร้างแอปเวอร์ชันใหม่ให้ใช้ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

อัปเดตความคืบหน้าความพยายามของสหรัฐฯ ในการแบนแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นแนวตั้งชื่อดังสัญชาติจีนอย่างติ๊กต่อก (TikTok) ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า TikTok กำลังจะแยกซอร์สโค้ด หรือเรียกว่าเป็นการโคลนนิ่งอัลกอริทึม “For You หรือ สำหรับคุณ” ซึ่งจะทำให้เกิดแอปพลิเคชันที่ทำงานคล้าย ๆ กับติ๊กต่อก เพื่อให้ใช้งานในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ซึ่งเวอร์ชันดังกล่าว บริษัทแม่อย่างไบต์แดนซ์ (ByteDance) ไม่ได้เป็นเจ้าของ และอาจส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ พิจารณาเรื่องการแบนใหม่ ข้อมูลนี้รอยเตอร์ส ชี้แจงว่า เปิดเผยโดยแหล่งข่าวที่ไม่ต้องการเปิดเผยความเป็นส่วนตัว


หากแอปพลิเคชันเวอร์ชันโคลนนิ่งดังกล่าวเสร็จสิ้น ตัวแอปก็จะดำเนินการและดูแลอัลกอริทึมโดยแยกออกจากแอป TikTok และโต่วอิน (Douyin แอปคล้าย TikTok ใช้ในประเทศจีน) โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นการตัดขาดการพัฒนาวิศวกรรมต่าง ๆ จากทีม ByteDance ซึ่งหากแยกออกมาได้จริง ๆ แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าแอปเวอร์ชันใหม่นี้ จะทำงานได้ไม่ดีเท่า TikTok ต้นฉบับ เนื่องจากขาดการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอจาก ByteDance


รอยเตอร์สรายงานว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา วิศวกรของ ByteDance และ TikTok หลายร้อยคนทั้งในสหรัฐฯ และจีนได้รับมอบหมายให้แยกโค้ดหลายล้านบรรทัด เป้าหมายคือสร้างฐานโค้ดแยกต่างหาก โดยไม่ขึ้นกับ TikTok ต้นฉบับ และกำจัดลิงค์ทุกอย่างที่จะลิงค์ไปยังแหล่งของจีน  ซึ่งแหล่งข่าวอธิบายว่างานดังกล่าวนี้เป็น “tedious dirty work หรือ งานสกปรกที่น่าเบื่อ” ซึ่งสื่อถึงความยากลำบากของ ByteDance ที่จะคลี่คลายปัญหาการแบนจากสหรัฐฯ 


แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า เมื่อสามารถโคลนนิ่งอัลกอริทึมสำเร็จ อาจปูทางไปสู่การขายกิจการ แม้ว่า TikTok จะเคยเปิดเผยว่าจะไม่ขายแอปพลิเคชันที่มีอัลกอริทึมไปด้วยก็ตาม เนื่องจากใบอนุญาตทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาได้รับการจดทะเบียนภายใต้ ByteDance ในประเทศจีน 


ความเคลื่อนไหวนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่วุฒิสภาของสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายให้ TikTok ขายกิจการในสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่าน รวมถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าวแล้วเรียบร้อย ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายใน 270 วัน หรือสิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2025 


ที่มาข้อมูล Reuters, CyberNews

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง