รีเซต

สื่อออนไลน์อาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการอยู่รอด งาน Regional Seminar 2023

สื่อออนไลน์อาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการอยู่รอด งาน Regional Seminar 2023
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2566 ( 17:44 )
55
สื่อออนไลน์อาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการอยู่รอด งาน Regional Seminar 2023

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นระดับภูมิภาค (Regional Seminar) ในหัวข้อ "ความอยู่รอดของสื่อออนไลน์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง" หรือ Survival of Online News Providers in the Changing World เป็นการรวมตัวกันของตัวแทนผู้ผลิตสื่อออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน หารือเกี่ยวกับปัญหา สถานการณ์และแนวทางการทำธุรกิจสื่อออนไลน์ในภูมิภาคนี้ โดยได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม ปทุมวัน ปริ๊นเซส และถ่ายทอดสดออนไลน์ทางเฟซบุ๊กสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ www.fb.com/SONPThai และไทยพีบีเอส www.fb.com/ThaiPBS 

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำว่า  ภูมิทัศน์สื่อในภูมิภาคอาเซียนปรับเปลี่ยนไปอย่างมากโดยเฉพาะพฤติกรรมผู้รับสารที่ปรับเปลี่ยนไปโดยเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Key Opinion Leader  หรืออินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับข่าวสารเป็นอย่างมาก ดังนั้นสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมงานจะสามารถแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมทั้งเสนอแนวทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตสื่อที่เน้นถึงคุณภาพของคอนเทนต์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางในการสร้างโมเดลธุรกิจ สำหรับหารายได้ให้องค์กรสื่อมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  โดยในงานนี้ได้สรุปถึงที่มาและภาพรวมของพัฒนาการของอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียน โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งสมาคมฯ อีกด้วย

การสัมมนาดังกล่าว ได้เชิญตัวแทนจากสื่อออนไลน์ชื่อดังในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว   ร่วมหารือใน 3 หัวข้อหลัก คือ หัวข้อที่ 1 “กลยุทธ์ด้านเนื้อหา (Content Strategy)” นำเสนอการพัฒนาการนำเสนอเนื้อหาและกลยุทธ์ในมุมมองใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน โดย Min Thaw Htut, Executive Director of Eleven Media Group เมียนมาร์,  Thong Sovan Raingsey, General Director of Koh Santepheap Media จากกัมพูชา และ Somsack Pongkhao, News Editor of Vientiane Times จากลาว หัวข้อที่ 2 “โมเดลธุรกิจ (Business Model)” ศึกษาสื่อออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงการออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่อย่างไร เพื่อดึงดูดผู้อ่านและผู้ชมมากขึ้น ในขณะที่แพลตฟอร์มทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ร่วมเสวนาโดย Do Min Thu  Executive,  VietnamPlus Online News จากเวียดนาม , Rosette Santillan Adel, Online Writer/Editor of Philstar.com  จากฟิลิปปินส์ และ Adek Media Roza Ph.D .Director of Katadata Insight Center จากอินโดนีเซีย  โดยทั้งสองหัวข้อ ร่วมดำเนินรายการเสวนาโดย น.ส.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวนการ Thai PBS World จาก Thai PBS  และหัวข้อที่ 3  “โอกาสการสร้างรายได้ (Monetization Opportunity)” โอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ของการหารายได้ที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดย  Chia Ting Ting,  Chief Commercial Officer Malaysiakini จากมาเลเซีย และนายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ดำเนินรายการโดย น.ส.ธันย์ชนก จงยศยิ่ง บรรณาธิการ TNN World 

ตัวแทนสื่อจากมาเลเซียกล่าวว่า สื่อ ผลิตภัณฑ์ และการโฆษณาเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด การกำหนดจุดยืนของแบรนด์ในระดับโลกเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะสื่อจำนวนมากลงไปแข่งขันในระดับนานาชาติ นอกจากนั้น สื่ออาจต้องเน้นให้บริการลูกค้าในด้านการบริหารชื่อเสียง การให้คำแนะนำด้านการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รวมทั้งการให้ความรู้กับสาธารณชนด้วย  การจำแนกฐานลูกค้า การเข้าใจลูกค้าแบบลึกซึ้ง การเข้ากันได้แบรนด์ลูกค้ากับสื่อของเราก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเช่นเดียวกัน

ขณะที่ตัวแทนจากประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า “สื่อต้องหากลุ่มเฉพาะของตัวเองให้เจอ ส่วนเนื้อหาที่ Google ต้องการในปัจจุบัน  คือเรื่องเกี่ยวกับการให้ความหวัง สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อม และการข่มขู่คุกคามจะได้รับการผลักดันมากกว่าเรื่องอื่น ๆ”

ตัวแทนสื่อจากลาว กล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 สื่อมวลชนลาวต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อความอยู่รอด แต่เดิมหารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวหารายได้จากออนไลน์ โดยผู้บริโภคข่าวสารในลาวที่รับข่าวสารผ่านระบบออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

ตัวแทนจากเมียนมาร์ กล่าวว่า ภายในประเทศยังคงมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด จนทำให้สื่อหลาย ๆ รายต้องปิดตัวลง เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวพม่าต้องใช้ VPN ในการเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกปิดกั้น สื่อมวลชนพม่าจำนวนมากถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และกักขังจากการเสนอเนื้อหาหรือความจริงที่ไม่ถูกใจรัฐ แม้จะยากลำบากในการทำสื่อขนาดไหน ทางตัวแทนพม่าได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “ถึงแม้คุณจะถูกห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำเรื่องไม่ดีแทน”

ด้านตัวแทนจากกัมพูชา ให้คำแนะนำว่า “การแบ่งกลุ่มชุดเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มเฉพาะ (Niche) เป็นสิ่งที่ควรทำ การทำข่าวในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เน้นความเร็ว และควรมีความครอบคลุมหลากหลายกลุ่มผู้ชม และเห็นว่า COVID-19 ได้กระตุ้นให้สื่อต้องปรับกลยุทธ์อย่างมากเพื่อความอยู่รอด” 

ตัวแทนจากฟิลลิปปินส์ กล่าวว่า สื่อมวลชนนำเสนอคอนเทนต์ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าการเมือง สังคม กีฬา ในช่วงนี้สื่อจะผลิตเนื้อหาที่สั้นลงให้เข้ากับพฤติกรรมผู้รับสาร และเน้นไปที่การนำเสนอแบบไลฟ์สด หรือ Real Time โดยเนื้อหาที่ครองใจคนได้ คือเนื้อหาที่มีทั้งภาพและเสียง ( Visualization)  พร้อนแนะนำว่า การทำคอนเทนต์ให้ตรงใจกับผู้รับสารจะเป็นประโยชน์กับตัวสำนักข่าวเอง ส่วนการที่จะไปต่อสู้กับโซเชียลมีเดีย หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ องค์กรสื่อเองต้องมีความน่าเชื่อถือและทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้ายามของสังคม รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน 

ตัวแทนจากอินโดนีเซียได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจว่า “การหาทุนในการทำข่าวเชิงลึกเป็นเรื่องที่ยาก สื่อต้องมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน อีกทั้งสื่อยังต้องมีการคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจก่อนการผลิตเนื้อหา ไม่เช่นนั้นการหารายได้จะลำบากอย่างยิ่ง”  

นอกจากนี้ยังได้จัดการสนทนาแบบ Roundtable ในหัวข้อ “The Future of News Website in ASEAN” โดยเปิดโอกาสให้วิทยากรทั้งหมด ได้แสดงความคิดเห็นและถาม-ตอบร่วมกับผู้เข้าร่วมงานกว่า 40 คน

ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), มูลนิธิเอสซีจี,  สายการบินไทยแอร์เอเชีย, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  ทั้งนี้สามารถติดตามชมบรรยากาศและเนื้อหาตลอดการประชุมย้อนหลังได้ทาง www.facebook.com/SONPThai และ YouTube Thai PBS : ช่วงที่ 1 http://youtu.be/9jpqD9eFJok , ช่วงที่ 2 https://youtu.be/ylM3Ql03LBY





















ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง